"คมนาคม-MLIT"สัมมนาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟ (TOD) และร่วมเปิดสำนักงานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) ประจำประเทศไทย หารือหน่วยรัฐเดินหน้าพัฒนาเมืองอัจฉริยะ- TODไฮสปีด 3 สถานีต้นแบบ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟ และร่วมพิธีเปิดสำนักงานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) ประจำประเทศไทย โดยมี นายโอทากะ มซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอิชิดะ มาซารุ Resident of Urban Renaissance Agency (UR) นายคิคุจิ มาซาฮิโตะ Deputy Director-General for City Bureau, MLIT นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายทรงยศินทร์ ชนปทาธิป ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ
นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความร่วมมือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) มายาวนาน เริ่มตั้งแต่โครงการจัดทำแผนการพัฒนาบริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (Bang Sue Development Plan) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 และได้มีการยกระดับความร่วมมือ ด้านการพัฒนาตามแนวคิด Transit Oriented Development หรือ TOD โดยมีการยกระดับแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มาเป็นแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ (Bang Sue Smart City) ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นปี ค.ศ. 2020
การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศจะทำให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีการวางแผนควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การจราจร และคุณภาพชีวิตของประชาชน แนวคิดการพัฒนาแบบ Transit Oriented Development หรือ TOD จึงเป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาศัยการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือกิจกรรมประเภทต่าง ๆ อย่างผสมผสานในช่วงรัศมีประมาณ 500 เมตรรอบสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า เชื่อมโยงพื้นที่ด้วยโครงข่ายระบบขนส่งขนาดรอง และการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorize Transport)
มีการกำหนดสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานเมืองน่าอยู่ เช่น การจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์และสาธารณะเพื่อการสันทนาการ ส่งเสริมให้มีย่านพักอาศัยที่มีความเหมาะสม กำหนดให้มีพื้นที่สันทนาการและพื้นที่สีเขียวเพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายหลักของกระทรวงคมนาคมในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปยังภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก สบาย ปลอดภัย และมีอัตราค่าโดยสารที่สมเหตุสมผล
รัฐบาลภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้นโยบายไว้กับกระทรวงคมนาคมอย่างชัดเจน ให้แก้ปัญหาการเดินทางของประชาชนในทุกมิติ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน กระทรวงคมนาคม จึงมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบการเดินทางหลักของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องการนำแนวคิด TOD ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กระทรวงคมนาคม
@ สนข.ศึกษาแผนแม่บท TOD
รอบสถานีรถไฟ 177 แห่งทั่วปท.
โดยสนข.ได้จัดทำแผนแม่บท TOD เพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งทางราง 177 แห่งทั่วประเทศ มีโครงการนำร่องการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ TOD บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีพัทยา สถานีขอนแก่น และสถานีพระนครศรีอยุธยา โดยอาศัยกลไกการบริหารจัดการและกฎหมายด้านการพัฒนาเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาพื้นที่ในและโดยรอบโครงสร้างพื้นฐานทางราง เพื่อเป็นเครื่องมือด้านกฎหมายและกำหนดองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา TOD ที่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต
สำหรับกรอบแนวคิดการจัดงานสัมมนาในวันนี้ ซึ่ง UR ใช้คำว่า “MIRAI of the city by TOD” หรือ “อนาคตของเมือง ด้วย TOD” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมที่กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในอนาคต โดยใช้ TOD เป็นกลไกสำคัญ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีความร่วมมือร่วมใจ ในการดำเนินการของหน่วยงานทุกภาคส่วนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายของประเทศ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่และมีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายและมาตรการด้านผังเมือง เช่น กฎหมาย การจัดรูปที่ดิน กฎหมายการจัดทำผังเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ EEC และ สถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ตลอดจนภาคประชาสังคมในท้องถิ่นที่จะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ยิ่งกว่านั้นความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น MLIT UR World Bank และ UN Habitat
ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดงานสัมมนาในวันนี้ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังกล่าว ประกอบกับองค์ความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และความสำเร็จในการพัฒนาตามแนวคิด TOD ของ MLIT และ UR จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมสร้างอนาคตของเมืองในประเทศไทยให้มีความน่าอยู่ ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ TOD ตาม Concept: “MIRAI of the city by TOD” อย่างแน่นอน
สำหรับจัดตั้งสำนักงาน UR ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหมุดหมายอันดีสำหรับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม MLIT และ UR ตลอดจนหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวคิด TOD ของประเทศไทยให้เกิดผลสำเร็จ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในวันนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา TOD ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป