xs
xsm
sm
md
lg

"คมนาคม-MLIT ญี่ปุ่น" แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีก่อสร้าง-จราจรอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คมนาคม" ประชุมร่วมกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งฯ ญี่ปุ่น (MLIT) แลกเปลี่ยนความรู้ ยกระดับความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีในการก่อสร้างถนน, การขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน, เทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะ

วันที่ 11 มีนาคม 2567 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (MOC between MOT and MLIT on the Policy Planning and Technologies of Road Traffic) โดยมีผู้แทนระดับผู้อำนวยการกองจากกรมนโยบาย MLIT ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้แทนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม และระบบประชุมทางไกล

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมรับฟังอุปสรรคและความท้าทายของคณะทำงานกลุ่มย่อย และหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ถึงทิศทางในการนำเทคโนโลยีการจราจรญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางถนนของประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่ได้มีความร่วมมือกับ MLIT ในการพัฒนาเทคโนโลยีในการก่อสร้างถนนร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา


ประกอบด้วย 1. Tunneling Technology เทคโนโลยีการขุดอุโมงค์ เป็นกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเพื่อขุดเจาะทางเข้าอุโมงค์ในที่ดินหรือหินใต้ดินสำหรับการก่อสร้างเส้นทางขนส่งหรือสายท่อต่างๆ ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โครงการ N1 tunnel project นราธิวาส-สำโรง

2. Operation and Maintenance Technology เทคโนโลยีในการดำเนินการและบำรุงรักษาสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมาย ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท

3. Intelligent Transportation Systems : ITS Technology เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการและปรับปรุงระบบการขนส่งทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ และระบบเช็กสภาพถนน ร่วมกับกรมทางหลวง


นอกจากนี้ การจัดงานสัมมนา Japan - Thailand Road Traffic Technical Seminar เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมหารือกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางถนนจากประเทศญี่ปุ่น โดยได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โครงการก่อสร้างสะพาน (พระราม 9 เส้นคู่ขนาน) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน และเป็นแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต โดยความร่วมมือภายใต้ MOC ต่อจากนี้ กระทรวงคมนาคมยินดีที่จะจัดให้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น เพื่อทางญี่ปุ่นได้เข้าใจถึงระบบเทคโนโลยีการก่อสร้างของไทย และสามารถหาช่องทางในการให้การสนับสนุนความร่วมมือได้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น