นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน ว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่คึกคัก เป็นลักษณะซึมทั้งประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หนี้ครัวเรือนที่สูง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ ยอมรับว่า มีความน่ากังวล เห็นได้จากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 57.4 จาก 58.3 ในเดือนตุลาคม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะปรับระดับขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีรายได้ในอนาคตยังไม่ดี เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจซึม มีหลายอย่างกำลังบ่งชี้ว่าเงินกำลังฝืด รัฐต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงปลายปี และไตรมาส 1 ปี 2567
อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะผลสำรวจเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวจากระดับ 60.2 เป็น 60.9 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวระดับต่ำกว่าปกติ (ระดับ 100) แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 ดีขึ้นจากตุลาคม อยู่ที่ 54.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ 57.6 ดีขึ้นจาก 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 69.9 ดีขึ้นจาก 69.2 ทั้งหมดเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากระดับ 44.0 เป็น 44.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 68.0 มาอยู่ที่ระดับ 68.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ