ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน พ.ย.66 ยังคงปรับดีเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ 39.4 จาก 38.5 ในเดือน ต.ค.66 แต่ยังอยู่ระดับต่ากว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อเนื่องเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) สะท้อนผ่านองค์ประกอบของดัชนีในด้านดังกล่าวที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ที่ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญยังคงมาจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและเบนซิน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ที่เกือบทั้งหมดมีผลตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.66 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลงเป็นอย่างมากและเดือน พ.ย.66 ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ -0.44%YoY ท่ามกลางมาตรการต่างๆ ของภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนความเชื่อมั่นของครัวเรือนเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพ
ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อยที่ 40.8 จาก 41.0 ในเดือน ต.ค.66 โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าในระยะข้างหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ยังมีความไม่แน่นอน
นอกจากนี้ ภาวะต้นทุนทางการเงินที่ตึงตัวอาจยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้แก่ครัวเรือนเกี่ยวกับภาระหนี้สินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่สร้างความกังวลให้แก่ครัวเรือนในการครองชีพมากที่สุดในปี 2567 พบว่า ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้แก่ครัวเรือนมากที่สุด (59.4%) รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับรายได้ที่อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย (22.2%) นอกจากนี้ เป็นความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง (9.8%) และสภาพอากาศที่แปรปรวน (6.5%) สัดส่วนครัวเรือนที่มีระดับความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจกระทบต่อค่าครองชีพในอนาคต ผ่านราคาพลังงานที่อาจผันผวน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในเดือนสุดท้ายของปี 2566 ดัชนี KR-ECI จะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากมาตรการ บรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐที่จะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย ซึ่งคงยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนดัชนีที่สำคัญ ขณะที่ในปี 2567 การฟื้นตัวของดัชนีคงจะมีความท้าทายมากขึ้น แต่ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับไปแตะสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ โดยการฟื้นตัวของดัชนีคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากทิศทางเศรษฐกิจไทยตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการส่งออกในปีหน้า ซึ่งคงจะหนุนมุมมองด้านรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนให้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสอาจจะมีผลต่อความผันผวนราคาพลังงานโลกลดลง อย่างไรก็ตาม ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นท่ามกลางสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงคงจะกดดันภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะต่อไป ขณะที่มาตรการสนับสนุนต่างๆของภาครัฐในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนทั้งมาตรการบรรเทาค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไป
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (เดือน พ.ย.66) ที่ 39.4 จาก 38.5 ในเดือน ต.ค.66 โดยยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามาช่วยหนุน ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ปี 2567 ดัชนียังมีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่เป็นการฟื้นตัวท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่ยังเป็นประเด็นต้งติดตามต่อไป เช่น มาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สภาพอากาศที่แปรปรวน