ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.5% YoY ลดลงจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าที่ 3.0% จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5% YoY ส่งผลให้รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% YoY อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่มาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากทางภาครัฐคงจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกตามฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แม้จะยังเผชิญปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 โดยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้
ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัว 1.5%YoY เติบโตชะลอลงจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขยายตัว 1.8% และเมื่อเทียบรายไตรมาสขยายตัว 0.8%QoQSA โดยเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวทั้งการอุปโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัว อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน รวมถึงการส่งออกบริการที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยสภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เติบโตเพียง 2.5% แตะขอบล่างของกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5-3.0%
ส่วนปี 2567 สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นในกรอบ 2.7-3.7% สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจีดีพีปีหน้าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปีหน้า ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว Krungthai COMPASS คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะแตะราว 35 ล้านคน สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์