นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ ชูแคมเปญ ไม่เลือกเราเขามาแน่ มุขแป๊ก
โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แล้ว โพลสำนักต่างๆก็ต้องหยุดเผยแพร่ผลการสำรวจตามประกาศของ กกต. จะทำให้คะแนนในโค้งสุดท้าย อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และเบียดขึ้นแซงกันในช่วงนี้ ก็ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ ผู้สมัครทุกคนก็ต้องเร่งหาคะแนนเพื่อให้คะแนนของตัวเแองตีตื้นในโค้งสุดท้ายให้ได้
อยากให้จับตาการหาเสียงในช่วงนี้ จะมีการปล่อยทีเด็ด ทั้งวิชาเทพและวิชามาร ออกมาพร้อมๆกัน มีการเสนอแนวทางให้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครอย่างมียุทธศาสตร์ นั่นหมายความว่า จากการเมืองที่มี 2 ขั้ว ให้แต่ละขั้วเลือกคนที่มีโอกาสได้มากที่สุดขั้วละคน โดยการเทคะแนนให้ผู้สมัครที่มีโอกาสมากได้รับเลือกมากที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ยาก
จากฐานคะแนนเสียงของคนใน กทม.สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ขั้วการเมืองใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติอย่างปฎิเสธไม่ได้ ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้าย ก็มีการแบ่งฐานคะแนนเสียงอย่างชัดเจน คือกลุ่มที่เอาทักษิณกับกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อ 3 มีนาคม 2556 ที่กลุ่มไม่เอาทักษิณ เทคะแนนเสียงให้กับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 1,256,349 คะแนน จนเบียดชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย 1,077,899 คะแนน ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากกลุ่มที่นิยมทักษิณในโค้งสุดท้ายไปได้
ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ฐานเสียงของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณมีอยู่ผู้สมัครอยู่ 2 คน คือคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์8 และคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์1 ส่วนฐานเสียงกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ ก็มีผู้สมัครอยู่ 4 คน คือ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 คุณสกล ภัทธยกุล เบอร์ 3 คุณรสนาโตสิตระกูล เบอร์ 7 ซึ่งกลุ่มนี้มีฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และกลุ่ม กปปส.
ดังนั้นการเสนอแคมเปญให้เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์นั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะผู้สมัครแต่ละคน ก็มีฐานเสียง แฟนคลับ หรือกลุ่มผู้สนับสนุนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งไม่สามารถทำใจไปเทคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ตามแนวทางการลงคะแนนอย่างมียุทธศาสตร์ตามที่ได้ขายความคิดในช่วงนี้ได้ เพราะผู้ลงคะแนนจะเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง กลัวผู้สมัครที่กลุ่มตนสนับสนุนจะได้คะแนนน้อยเกินไป จะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองได้
ส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้ยุทธศาสตร์แบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่น่าจะสำเร็จ เขื่อว่าคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน จะแชร์กันเองในกลุ่มฐานคะแนนของแต่ละขั้ว อยู่ที่ใครจะมีฝีมือดึงคะแนนเสียงในขั้วตัวเองได้มากกว่ากันผู้สมัครคนอื่นๆ ผู้สมัครคนนั้นก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ซึ่งสมารถฟันธงได้ว่า ขั้วเอาทักษิณ จะได้เปรียบขั้วไม่เอาทักษิณ เพราะมีตัวแชร์คะแนนน้อยกว่า