xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงเทพฯ จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อเทพที่สร้างกรุงเทพฯ เทพที่ปกป้องกรุงเทพฯ ชาติปางก่อน คือ ไพร่ เชลยสงคราม สามัญชน คนสารพัดกลุ่มที่อพยพมา ไม่ใช่ชนชั้นสูง

แน่นอนพวงทองพูดอย่างนี้ เพราะเธอมีทัศนคติและจุดยืนทางการเมืองที่สนับสนุนม็อบบนถนนที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ปิดบังอำพราง

การสร้างกรุงเทพฯ นั้นเกิดจากแรงงานของไพร่แผ่นดินอย่างที่เธอว่าแน่ ถ้าหมายถึงความหมายในการใช้แรงงานก่ออิฐก่อปูน และไพร่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ก่อให้เกิดความเป็นรัฐชาติในทางรัฐศาสตร์ แต่กรุงเทพฯ จะมีวันนี้ได้ต้องมีผู้นำที่สามารถรวมใจคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวได้ และบุคคลนั้นเป็นคนที่มีความสามารถที่ประชาชนให้การยอมรับเพื่อนำพาชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นหลักการสถาปนาผู้นำที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในรัฐไทย

ถ้าพูดแบบพวงทองจะบอกว่าธนาคารกรุงเทพไม่ได้สร้างโดยเจ้าสัว ชิน โสภณพนิช แต่เกิดจากไพร่ สามัญชน ไม่ใช่คนชั้นสูงก็ว่าได้

ประชาธิปไตยนั้นเพิ่งเกิดขึ้นมาทีหลัง ในอดีตเรายอมรับให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์ ผู้นำเผ่าให้บริหารบ้านเมืองเหมือนกันทั่วโลก และมีหลายประเทศที่ระบอบกษัตริย์สามารถดำรงอยู่ได้ถึงปัจจุบัน เพราะพระมหากษัตริย์มีสายใยของความศรัทธากับประชาชนในรัฐ จึงมีสถานะเป็นสถาบันหนึ่งของชาติ

และเมื่อเราเปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังคงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยส่วนใหญ่ในชาติ

แน่นอนกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงจึงมีความเจริญมากกว่าเมืองอื่น มีประชากรจำนวนมากที่สุด และเป็นเมืองที่คนต่างจังหวัดไหลมารวมกันเพื่อหารายได้ในการดำรงชีพ เมืองกรุงเทพฯ จึงเป็นเหมือนเมืองของโอกาสในการไขว่คว้าเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็มีทั้งคนที่สมหวังผิดหวัง

กรุงเทพฯ แม้ว่าใครจะสร้างก็ตามวันนี้ก็เป็นเมืองของคนธรรมดาที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แม้ว่าอาจจะมีความแตกต่างทางชนชั้นและสถานะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่สุขสบายที่ไม่เท่าเทียมกันก็ดี แต่หลายคนก็ใช้กรุงเทพฯ แห่งนี้เป็นเวทีไต่เต้าจนประสบความสำเร็จในชีวิต

กรุงเทพมหานครแห่งนี้จึงเป็นโอกาสของคนธรรมดาทุกคน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองต้นแบบของการปกครองที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน เป็นเมืองแรกที่รัฐเปิดโอกาสให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยตนเองมาตั้งแต่ปี 2518 นับได้ 47 ปีแล้วที่เรามีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากประชาชน แม้ว่าจะเว้นว่างไป 8 ปีระหว่างปี 2520 ที่กลับไปเป็นรูปแบบเดิม และเราได้กลับมาเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2528 ก็ตาม

ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 13.86 และเมื่อนานวันเข้าประชาชนก็เข้าใจสิทธิ์ของตัวเองจนมีการมาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น โดยครั้งล่าสุดในปี 2556 มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ถึงร้อยละ 63.98 และคาดการณ์ว่าครั้งนี้จะมีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าครั้งก่อน เพราะประชาชนกระหายการเลือกตั้งที่ห่างหายไปกว่า 8 ปี

ขณะที่ประชาชนอีกหลายจังหวัดก็อยากมีโอกาสแบบคนกรุงเทพฯ เพื่อสามารถเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตนเอง แต่รัฐไทยก็ยังไม่กล้าแยกอำนาจจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคออกจากส่วนกลาง เพราะเกรงว่าหากมีการเลือกผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดก็จะกลายเป็นรัฐอิสระที่มีสภาพคล้ายกับเป็นสหพันธรัฐไป แต่เชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อมและต้องการบริหารงานที่เป็นอิสระจะถูกจัดให้มีการเลือกตั้งแบบกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น

เมื่อคนกรุงเทพฯ มีโอกาสเช่นนี้ก็ดูว่าวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ คนกรุงเทพฯจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. หลังจากการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด

ที่น่าสนใจคือในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีกระแสข่าวว่าพล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนิยมมาแรงและน่าจะชนะเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเกิดกระแสไม่เลือกเราเขามาแน่ ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นผู้ชนะด้วยคะแนนกว่า 1.2 ล้านคะแนน ในขณะที่พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ได้คะแนนมากกว่า 1 ล้านคะแนนเช่นเดียวกัน

การเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่แบ่งออกเป็นผู้สมัครหลักๆ 2 ขั้วการเมือง คือ ฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาล และฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ปรากฏว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีคะแนนนำหน้าในทุกโพล

กล่าวกันว่าชัชชาติไปขอทักษิณเพื่อลงในนามอิสระ และทักษิณเห็นด้วย แต่แม้จะสมัครในนามอิสระ แต่หลังพิงของชัชชาติก็คือพรรคเพื่อไทยที่ส่ง ส.ก.ลงทุกเขต แต่ไม่ส่งสมัครผู้ว่าฯ ในนามพรรค และผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยก็หาเสียงโดยมีนโยบายที่สอดคล้องไปกับชัชชาติและรณรงค์ให้ประชาชนเลือกชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ด้วย

ณ เวลานี้ใครต่อใครโพลทุกโพลและสื่อทุกสำนักก็เชื่อว่า ชัชชาติจะลอยลำ และจะมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่นจำนวนมาก โดยฝั่งเดียวกันที่เชื่อว่าจะแย่งคะแนนกับชัชชาติ ก็คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และน.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวกันว่าถ้าวิโรจน์และศิธาตัดคะแนนชัชชาติได้เยอะ ก็อาจจะดึงคะแนนชัชชาติลงมาจนพ่ายแพ้อีกฝั่งได้

ส่วนอีกฝั่งที่แย่งคะแนนกันเองเช่นกันคือ สกลธี ภัททิยกุล ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้ว่าบรรดาผู้มีอิทธิพลในฝั่งนี้จะเรียกร้องให้ประชาชนฝั่งตัวเองเลือกแบบมีกลยุทธ์คือทิ้งคะแนนให้เบอร์ใดเบอร์หนึ่ง เพื่อให้สามารถเอาชนะชัชชาติได้ แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดเอกภาพเพื่อลงให้เบอร์ใดเบอร์หนึ่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้วชัชชาติก็จะชนะแน่นอน

สกลธีนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายคน แต่ฐานเสียงของสกลธีก็น่าจะต้องแย่งชิงกับอัศวินที่มาจากคนที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่สุชัชวีร์นั้นมีฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์แม้ว่าประชาธิปัตย์ใน กทม.จะตกต่ำลงมากในการเลือกตั้ง ส.ส.แต่ก็น่าจะยังมีถึง 4-5 แสนคน

แต่เมื่อพิจารณาฐานเสียงของสองฝั่งการเมืองจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งที่แล้ว ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาพบว่า ทั้งสองฟากมีคะแนนที่ก้ำกึ่งกันมาก ถ้าฝั่งสนับสนุนรัฐบาลจะพลิกชนะชัชชาติได้มีทางเดียวคือคะแนนของสกลธี อัศวิน และสุชัชวีร์ ต้องเทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

น่าสนใจว่า ณ โค้งสุดท้ายนี้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะสร้างกระแสไม่เลือกเราเขามาแน่ผนึกเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเอาชนะชัชชาติในร่มเงาของเพื่อไทยได้หรือไม่

โดยมีรสนา โตสิตระกูลเป็นม้ามืด ถ้าหากว่าคนกรุงเทพฯ กว่า 7 แสนคนที่เคยเลือกเธอเป็น ส.ว.กทม.ยังไม่ลืมเธออะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น