ร.ต.ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมป้องกันน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ว่า สนามบินดอนเมืองให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมขังเป็นเรื่องเร่งด่วน ระบบระบายน้ำสนามบินดอนเมืองถูกออกแบบให้สามารถรองรับการระบายน้ำฝนสูงสุดที่ 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง (ในชั่วโมงแรก) โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ระบายน้ำออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
1. ด้านทิศเหนือ ได้มีการจัดเตรียมบ่อรับน้ำจำนวน 3 บ่อ มีพื้นที่โดยประมาณ 8.2 แสนตารางเมตร และได้มีการรักษาระดับน้ำที่ 0.35 เมตร จากท้องบ่อรับน้ำ เพื่อให้มีระดับเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ 1.50 เมตร ซึ่งทำให้มีปริมาณการรับน้ำได้อีกประมาณ 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพียงพอต่อการรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก
2. ด้านทิศตะวันตก ได้มีการติดตั้งโรงสูบระบายน้ำเพื่อรองรับการระบายน้ำออกโดยตรงสู่คลองเปรมประชากรผ่านท่อลอดถนนวิภาวดีรังสิต
3. ด้านทิศตะวันออก ได้มีการติดตั้งโรงสูบระบายน้ำร่วมกับกองทัพอากาศเพื่อรองรับการระบายน้ำออกสู่คลองถนน และถ้าหากมีปริมาณฝนตกหนัก หรือน้ำท่วมขังทาง ทดม.จะดำเนินการสูบระบายน้ำออกสู่ภายนอกทันที เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังภายใน ทดม. การดำเนินการจัดการอยู่ในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งจะไม่มีน้ำท่วมขังในบริเวณตำแหน่งสำคัญ อันได้แก่ ทางวิ่ง ทางขับ และหลุมจอดอากาศยาน
นอกจากการรองรับการจัดการปัญหาฝนตกหนักแล้ว สนามบินดอนเมืองยังมีการเตรียมแผนรองรับการจัดการปัญหาน้ำท่วมที่มาจากพื้นที่ภายนอก ดังต่อไปนี้
1. สนามบินดอนเมืองมีกำแพงกันน้ำโดยรอบและจะปิดประตูด้านถนนวิภาวดีรังสิตหากมีปริมาณน้ำท่วมภายนอก ทดม.ด้านถนนวิภาวดีรังสิต และจะประสานกองทัพอากาศปิดประตูด้านถนนพหลโยธิน
2. การเตรียมถุงบรรจุทรายขนาดใหญ่และขนาดเล็กสำหรับเสริมการกั้นน้ำในบางจุด
3. การตรวจสอบระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบปั๊มสำรองเคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
4. การจัดการจราจรภายในสนามบินดอนเมือง เพื่อแก้ไขการจราจรบนพื้นที่น้ำขัง
5. การประสานงานหน่วยงานและผู้ประกอบการเพื่อจัดการระบบต่างๆ ใน ทดม. ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา
ร.ต.ธานี ยืนยันว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและรักษาความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ผู้ขนส่งสินค้า เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการกิจการท่าอากาศยาน รวมถึงชุมชนโดยรอบ ทดม. ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำ กทม.และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังระดับน้ำ นอกจากนี้ ทดม. ได้เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานกาณ์น้ำประจำวัน ตั้งแต่วันที่ 6 - 15 ตุลาคม 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ