บอร์ด ทอท.เคาะลงทุนดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้าน รวมสร้าง 12 หลุมจอดเพิ่มรองรับ 50 ล้านคน/ปี พร้อมตั้งงบ 600 ล้านบาทจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดใน 1 ปี เริ่มสร้างปี 66 เปิดอาคารหลังที่ 3 ปี 68 และเตรียมเปิดเอกชนร่วมทุน JUNCTION BUILDING พัฒนาเชิงพาณิชย์
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โดยปรับวงเงินลงทุนเป็น 36,829.499 ล้านบาท จากเดิมที่มีวงเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงทบทวนแก้ไขแผนการดำเนินงานจากรูปแบบการก่อสร้างไปพร้อมกับออกแบบ หรือ Design & Built เป็นการออกแบบรายละเอียด หรือ Detail Design ก่อนดำเนินการหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ให้โครงการของ ทอท.ดำเนินการในรูปแบบ Detail Design ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังได้มีการทบทวนปรับปรุงแผนโครงการก่อสร้างใหม่ โดยปรับการใช้งานอาคารและพื้นที่สำหรับผู้โดยสาร ภายใต้แนวคิดวิถีปกติใหม่ (New Normal) และนำโครงการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานทางด้านทิศเหนือเพิ่มเติม 12 หลุมจอด เข้ามาร่วมก่อสร้างในโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ 3 ด้วย ทำให้วงเงินปรับเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ล้านบาทเศษ
ภายในปีนี้ ทอท.จะดำเนินการประมูลคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) โครงการ วงเงินค่าจ้างประมาณ 600 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาภายในเดือน ธ.ค. 2564 ใช้ระยะเวลาออกแบบประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2565 โดยในระหว่างนี้จะนำเสนอโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างในปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยจะทยอยเปิดใช้อาคารหลังที่ 3 ได้ประมาณปลายปี 2568 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เป็น 50 ล้านคน/ปี
“เมื่อพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 เสร็จ รูปแบบการใช้อาคารจะปรับใหม่ โดยจะปรับอาคารหลังที่ 1 ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะมีการปรับปรุงเพื่อใช้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ คู่กับอาคารหลังที่ 2 ส่วนอาคารหลังที่ 3 (จุดที่ตั้งอาคารในประเทศหลังเก่า) ซึ่งจะมีการก่อสร้างใหม่ จะใช้เป็นอาคารระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้นกว่าปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ในพื้นที่สนามบินดอนเมืองจะมีแผนโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเอกชนสามารถนำเสนอแผนพัฒนา เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถ เป็นต้น ซึ่งอาคาร JUNCTION BUILDING ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างที่เชื่อมระหว่างอาคารในประเทศ (อาคาร 2) และอาคารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเตรียมนำเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนของ ทอท. ซึ่งตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ระบุให้ ทอท.ดำเนินการเปิดประมูลได้เอง
ส่วนระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น จะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ด้านใต้ของสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ APM จะมีระบบที่เชื่อมต่อพื้นที่ด้านใต้กับอาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ด้านใต้มากขึ้น