สนามบินสุวรรณภูมิพร้อมรับสถานการณ์น้ำ เขื่อนดินสูง 3.5 เมตร พื้นที่รองรับน้ำมากกว่า 4.7 ล้าน ลบ.ม. และการระบายน้ำยังเต็มประสิทธิภาพ พร้อมประสานการระบายลงคลองลงสู่ทะเลไม่กระทบชุมชนโดยรอบ
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมด้วย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมป้องกันน้ำท่วมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้พื้นที่หลายจังหวัดได้ประสบกับภาวะน้ำท่วม ขณะที่ประกาศฉบับล่าสุดของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้เตือนให้เฝ้าระวังปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 5-9 ตุลาคมนี้ ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น
ทั้งนี้ แม้ในระยะนี้จะมีปริมาณฝนมากขึ้น มั่นใจว่าด้วยระบบการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมจากภายนอกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบกับมีพื้นที่รองรับน้ำระดับสูงและการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และไม่กระทบการให้บริการทั้งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าอย่างแน่นอน
ในส่วนของระบบป้องกันน้ำท่วมจากภายนอกนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีเขื่อนดินล้อมรอบซึ่งด้านบนสันเขื่อนมีความกว้าง 3 เมตร ฐานสันเขื่อนกว้าง 37 เมตร สูง 3.5 เมตร ยาว 23.5 กิโลเมตร สามารถป้องกันระดับน้ำจากภายนอกได้สูง +2.27 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งในส่วนนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของเขื่อนดินเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความแข็งแรง สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับพื้นที่รองรับน้ำของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งส่วนของคลองโดยรอบและคลองภายใน รวมถึงอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแก้มลิงทั้งหมด 6 แห่ง ทั้งหมดมีศักยภาพกักเก็บน้ำได้ 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีการบริหารกักเก็บน้ำไว้ระดับสูงในฤดูแล้ง แต่พร่องน้ำให้ต่ำลงเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน โดยการบริหารจัดการส่วนนี้มีการทำงานประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพร่องน้ำในคลองภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้อยู่ระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่ -1.6 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้พร้อมแล้ว
ส่วนของศักยภาพการระบายน้ำนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีสถานีสูบน้ำ 2 สถานี ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ฝั่งตะวันออก และทิศใต้ฝั่งตะวันตก ของท่าอากาศยาน ซึ่งแต่ละสถานีจะมีเครื่องสูบระบายน้ำขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 4 เครื่อง รวมทั้งหมด 8 เครื่อง โดยจะเปิดใช้งาน 6 เครื่อง ศักยภาพการสูบระบายน้ำรวม 12 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ขณะเดียวกัน การสูบและระบายน้ำนั้นมีความสอดคล้องกับคลองภายนอก เช่น คลองหนองงูเห่า คลองหนองปรือ คลองบางโฉลง จากคลองทั้งหมดจะเชื่อมกันไปสู่ระบบคูระบายน้ำริมทะเล ซึ่งกำกับดูแลโดยทางกรมชลประทาน ทำให้การระบายน้ำของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้ด้วยระบบการบริหารจัดการภายในของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะให้ความเชื่อมั่นในระดับสูงว่าปริมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะนี้จะไม่ก่อปัญหาน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่บริการ ขณะเดียวกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ยังคงมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งให้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ เพื่อการบริหารจัดการปริมาณน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กรมชลประทานเพื่อประสานการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการรักษาความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ผู้ขนส่งสินค้า และดูแลชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปพร้อมกัน