xs
xsm
sm
md
lg

โควิดซัด “สุวรรณภูมิ” 11 เดือนผู้โดยสารเหลือ 6 ล้านคน มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก รับเปิดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุวรรณภูมิเผย 11 เดือนปี 64 พิษโควิดฉุดผู้โดยสารเหลือ 6 ล้านคน ต่ำกว่าปี 63 กว่า 80% ขณะที่ครบรอบ 15 ปีมีผู้ใช้บริการจากทั่วโลก 692 ล้านคน มีกว่า 4.3 ล้านเที่ยวบิน มุ่งพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและสินค้า เตรียมพร้อมเปิดประเทศ

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสนามบินสุวรรณภูมิในปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 63-ส.ค. 64 (รวม 11 เดือน) มีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 77 สายการบิน โดยมีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวมทั้งสิ้น 113,000 เที่ยวบิน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 46.4% มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 5.95 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 80.7% และมีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 1.1 ล้านตัน ลดลง 4.3% ซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารได้รวมเที่ยวบินพิเศษขาเข้าระหว่างประเทศภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลด้วยแล้ว

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสาร เที่ยวบิน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ธุรกิจการบินทั่วโลกยังประสบปัญหาภาวะวิกฤตอย่างหนักสองปีติดต่อกัน 
 
โดยนับเป็นเวลา 15 ปีที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 49 มีผู้โดยสารใช้บริการแล้วทั้งสิ้นกว่า 692 ล้านคน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งหมด 18.6 ล้านตัน ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งสิ้นกว่า 4.3 ล้านเที่ยวบิน

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดสนามบินสุวรรณภูมิยังคงเดินหน้าพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการผู้โดยสารในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถด้านทิศตะวันออก (โซน 2 ส่วนขยาย) โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 65 รองรับได้จำนวน 1,022 ช่องจอด 2. โครงการปรับปรุงอาคารจอดรถโซน 2 และอาคารจอดรถโซน 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้บริการ และติดตั้งระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์แบบอัตโนมัติ (Auto Pay) ใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสามารถดูจำนวนช่องจอดได้แบบ Real Time

3. โครงการพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวโซน A และลานจอดรถโซน 6-7 ที่มีการปรับปรุงติดตั้งหลังคาบังแดดและฝน เพื่อให้ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 4. โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร ส่งเสริมภาพลักษณ์ท่าอากาศยานด้านสิ่งแวดล้อม (Green Airport) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการติดตั้งไฟ LED เพื่อประหยัดพลังงานและสนับสนุนนโยบายของรัฐในด้านการใช้พลังงานทดแทนการอนุรักษ์พลังงาน

5. โครงการก่อสร้างและปรับปรุงห้องสุขาภายในอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน A ถึง G จำนวน 52 จุด เพื่อให้เกิดความสวยงาม ผู้โดยสารสามารถใช้บริการได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และการจัดทำห้องให้นมบุตร (BABY ROOM) เพิ่มเติม ณ ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ชั้น 2 อาคารเทียบเครื่องบิน D และขาออกระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารเทียบเครื่องบิน B

6. โครงการปรับปรุงจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โซน 1 โซน 2 และโซน 3 อาคารผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจค้นและลดปัญหาการแออัดของจำนวนผู้โดยสาร

7. โครงการพัฒนาระบบรถรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลระบบบริหารจัดการรถรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) เช่น ระบบกดตั๋วโดยสารรถรับจ้างฯ (KIOSK) กับ AOT Airports Application ทำให้ผู้โดยสารผู้ใช้บริการสามารถจองคิว และกดตั๋วโดยสารได้จาก Application ซึ่งช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำและได้รับความสะดวกสบายจากการใช้บริการมากขึ้น

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวว่า ในด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อให้การบริการด้านการขนส่งสินค้ามีความคล่องตัว ในโครงการปรับปรุงพัฒนาสิ่งอำนวนความสะดวกต่างๆ เช่น 1. โครงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Preshipment Inspection Center) หรือ PPL เป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตรให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรของไทย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด และบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ให้ความร่วมมือส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าการเกษตรของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่เชื่อมโยงท่าอากาศยานภูมิภาค (AOT Local Logistics Link) เพื่อประกอบกิจการกระจายสินค้าภายใต้การขนส่งหลายรูปแบบที่นำเข้าทางด่านศุลกากรอื่น เพื่อมาปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากร ทสภ. นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งมอบสินค้าภายใต้หลักการจัดการโลจิสติกส์ที่สร้างความได้เปรียบในการขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565

2. โครงการขยายอาคารตรวจค้น (Access Control) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของผู้ที่เข้ามาใช้บริการเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

3. โครงการติดตั้งระบบออกบัตรคิวอัตโนมัติ (AOT Free Zone Smart Queue Application) และจะดำเนินการพัฒนาระบบในส่วนของการจองคิวล่วงหน้าแบบออนไลน์ผ่าน Mobile Application (FZ Smart Queue) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการและเพื่อความปลอดภัยตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

4. โครงการปรับปรุงสำนักงานศุลกากรฝ่ายสืบสวนและปราบปราม โดย 4 โครงการมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2565

5. โครงการติดตั้งระบบบริหารจัดการบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้า-ออกพื้นที่กำกับดูแล ณ เขตปลอดอากรและคลังสินค้า หรือ Pre-Smart AccessPhase 1 Digital Cargo M4 เป็นระบบสำหรับออกบัตรอนุญาตบุคคลและยานพาหนะชนิดชั่วคราวรายวัน (ไม่เกิน 24 ชม.) สำหรับบุคคลทั่วไป (Visitor) โดยคาดว่าจะพัฒนาและติดตั้งระบบแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2565












กำลังโหลดความคิดเห็น