พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5.0 เมตร กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาวประมาณ 1.88 กิโลเมตร แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร
2. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 เมตร ยาวประมาณ 5.98 กิโลเมตร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร
3. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ยาวประมาณ 5.11 กิโลเมตร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ยาวประมาณ 6.40 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย
- โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2565
- โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
- โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567
- โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2568
สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
นอกจากนี้ ในส่วนการบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำสถานีสูบน้ำตลอดเวลา เพื่อบำรุงรักษาและจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงไม่ให้กีดขวางช่องทางรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์ รวมทั้งได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลองระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่เป็นประจำ โดยได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี