ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน เร่งเดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มเติม 6 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ บูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ขุดลอกคู คลอง จัดเก็บวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ แล้วเสร็จตามแผน 100 % เพื่อประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม
วันนี้ (3 ต.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5.0 ม. กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง นอกจากนี้ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพมหานคร ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกทม. ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม. 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม. 3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที 4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2565 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2568 สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
นอกจากนี้ ในส่วนการบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ กทม. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำสถานีสูบน้ำตลอดเวลา เพื่อบำรุงรักษาและจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงไม่ให้กีดขวางช่องทางรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์ รวมทั้งได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลองระบายน้ำ ในพื้นที่ กทม. เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่เป็นประจำ โดยได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำระหว่างจังหวัดปริมณฑลกับ กทม. นั้น กทม. ได้มีการประสานงานร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับพื้นที่ปริมณฑล ดังนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำกับพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ แนวริมคลองมหาสวัสดิ์ เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ประตูระบายน้ำคลองซอย ประตูระบายน้ำคลองบางคูเวียง ประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ และประตูระบายน้ำคลองควาย โดยจะเปิดประตูระบายน้ำตลอดเวลา แต่ในช่วงฤดูฝนจะควบคุมระดับน้ำภายในพื้นที่ฝั่งธนบุรีไม่เกิน +0.80 ม.รทก.และถ้าระดับน้ำมากกว่านี้จะเปิดประตูบางส่วนหรือปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพฝนและระดับน้ำภายในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ คลองเปรมประชากรตอนประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ (ติดคลองรังสิต) ประตูดังกล่าวประกอบด้วยประตูแบบปิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 11 ช่วงฤดูฝนจะเดินเครื่องสูบน้ำรักษาระดับน้ำด้านในไม่เกิน +0.50 ม.รทก.ช่วงฤดูแล้งจะเปิดบานประตูเพื่อนำน้ำจากคลองรังสิตผ่านเข้ามาไหลเวียน
ในส่วนของความคืบหน้าการขุดลอกคูคลองจัดเก็บขยะและวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งการลอกท่อระบายน้ำ ช่วยเปิดทางน้ำไหล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2564 กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดเก็บและกำจัดผักตบชวา ในแหล่งน้ำสาธารณะ คูคลองลำรางและลำกระโดงที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,980 คูคลอง ความยาวรวม 2,743 กิโลเมตร ซึ่งคูคลองลำรางลำกระโดงเหล่านี้ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การคมนาคม โดยสำนักการระบายน้ำดูแลรับผิดชอบคลองระบายน้ำสายหลัก จำนวน 233 คลอง ความยาว 1,003 กม. สำนักงานเขต 50 เขต ดูแลรับผิดชอบคูคลองระบายน้ำสายรอง จำนวน 1,747 คูคลอง ความยาว 1,740 กม. ปริมาณขยะและวัชพืช ผักตบชวา ที่จัดเก็บได้ มีจำนวนทั้งหมด 499,445 ตัน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครดำเนินการขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 132 คลอง ความยาวรวม 270,602 ม. ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 100% ดังนี้ สำนักงานเขต รับผิดชอบ จำนวน 117 คลอง ความยาว 212,732 ม. สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ จำนวน 15 คลอง ความยาว 57,870 ม.