xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”ยื่นอุทธรณ์คดีแอชตันอโศก ชี้กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตาม ม.39 ทวิ และ ม.39 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่ออกให้แก่บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยให้มีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว ซึ่งได้ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาไปแล้วนั้น

ในคดีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและผู้ฟ้องคดีรวม 16 คนได้ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวไปด้วย แม้ว่าศาลจะพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดีไปแล้วก็ตาม แต่มีบางประเด็นที่ศาลยกและไม่วินิจฉัยให้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เห็นว่าควรที่จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้เป็นบรรทัดฐานในทางคดีต่อไป เนื่องจากสมาคมฯ มีกรณีพิพาทอีกหลายคอนโดมิเนียมที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง และที่กำลังจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลก็อีกหลายคดี

ในการยื่นอุทธรณ์คดีแอชตันอโศกครั้งนี้ ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคือกรณีที่เจ้าของที่ดินเดิมได้เคยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแล้วทำการตัดที่ดินบางส่วนเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะพร้อมกับจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้วนั้น แต่เมื่อมาทำการสำรวจรังวัดใหม่กลับไม่ปรากฏถนนสาธารณะดังกล่าว จนทำให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างคอนโดฯได้นั้น สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้อย่างไร

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การได้มาซึ่งที่ดินของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.นั้น ได้มาจากการใช้อำนาจทางกฎหมายเวนคืนที่ดิน โดยมีวัตถุประสงค์คือ จัดทำรถไฟฟ้าบริการประชาชน แต่เมื่อมีพื้นที่ดินเหลือจากการเวนคืน กลับนำไปให้เอกชนเช่าหาประโยชน์โดยใช้เป็นทางเข้า-ออกหรือกระทำอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของเอกชน จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของการเวนคืนที่ดินตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งเรื่องอำนาจฟ้องของสมาคมฯ และประชาชนด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลได้วินิจฉัยไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมิให้มีผู้ใดมากดดันในครรลองที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลปกครองได้ และเพื่อให้กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ที่จะเป็นบรรทัดฐานของสังคมในอนาคตต่อไป