xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องเพิกถอนคำสั่งแล้วแต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายในภายหลัง : ต้องทำภายในกำหนดใด ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

อายุความหรือ “ระยะเวลาการฟ้องคดี” นับเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญประการหนึ่งในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล เพราะหากไม่ฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งเงื่อนไข เรื่องระยะเวลาในการฟ้องคดีปกครองนั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ ทั้งนี้แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของคดี นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๒ ด้วย

คดีปกครองที่นำมาเสนอท่านผู้อ่านในวันนี้ ... เป็นเรื่องของระยะเวลาในการฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด โดยมีปัญหาน่าสนใจว่า กรณีการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากคำสั่งทางปกครอง จะนับวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีคือวันใด ? ติดตามได้ในคดีนี้ครับ !

มูลเหตุของคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ... ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ถูกสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและได้รับคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ซึ่งพิจารณาแล้ว
ไม่เห็นด้วยจึงส่งอุทธรณ์ไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) พิจารณา

โดยต่อมาปลัดกระทรวงฯ ได้วินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ และผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งผลเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙

จากนั้นจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์และคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาพร้อมกับคดีดังกล่าวด้วย จนภายหลังศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาว่าจ้างระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับบรรดาผู้รับเหมาซึ่งเป็นจำเลยในคำพิพากษาศาลฎีกาได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงและสัญญาตกเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวนคนละ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการออกคำสั่งให้ชดใช้เงินโดยไม่ชอบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียง ทำให้ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และสังคม เข้าใจผิดว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่เรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่เห็นด้วย
จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ยื่นฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ?

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ภายหลังที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับทราบคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้างว่าถูกกระทำละเมิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งให้ชดใช้เงินและวินิจฉัยยกอุทธรณ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ที่พิพาทย่อมต้องมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอื่นวินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

โดยหากศาลปกครองรับคำฟ้องก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้เองว่าการกระทำตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หรือไม่ เมื่อกรณีตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้คดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่การที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง โดยคำฟ้องกรณีดังกล่าวจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่มาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ได้กำหนดไว้ คือ ภายใน
๑ ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงชอบที่จะนำคดีมาฟ้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี คือ นับแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งผลวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๐

การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา ๕๑ ดังกล่าวแล้ว

อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ว่า วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ อีกทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่โดยเฉพาะ มิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คผ.๔๗/๒๕๖๔)

สรุปได้ว่า ... กรณีการฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีการฟ้องเพิกถอนคำสั่งต่อศาล (ระยะเวลาการฟ้องคดีมาตรา ๔๙) หากเห็นว่าตนได้รับความเสียหายจากคำสั่งพิพาทก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายมาพร้อมกันได้เลย หรือในกรณีที่ยื่นฟ้องในภายหลังก็จะต้องยื่นฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการ
ฟ้องคดี (ระยะเวลาการฟ้องคดีมาตรา ๕๑) ซึ่งกรณีข้างต้นคือวันที่ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์

โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำพิพากษาของศาลใดเพื่อยืนยันการกระทำที่ไม่ชอบ เนื่องจากศาลปกครองที่รับ
คำฟ้องย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้เองว่าการกระทำตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ... นั่นเองครับ

โดย ลุงถูกต้อง

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕ และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จากwww.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น