น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามและแสดงความชื่นชมความก้าวหน้าผลงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ
สำหรับความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. โครงการศึกษาวิจัยระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน NDV-HXP-S ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม
2. โครงการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA Vaccines) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และวัคซีนจาก Moderna ผลศึกษาการทดลองในหนูและลิง พบว่ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับสูง ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้ เริ่มการศึกษาในมนุษย์
3. โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด DNA (วัคซีนโควิเจน) โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผลการทดสอบในหนูทดลอง พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 และคาดว่าจะวิจัยในคนระยะที่ 2 และ 3 ในปีนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย 64) โดยมีแผนการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียคู่ขนานกันไป
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ที่ใช้ใบยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน หลังจากที่มีการผลิตวัคซีนลอตแรกเสร็จ จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้
ขณะที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย แจ้งว่า จะทำการส่งมอบวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุข ครบ 6 ล้านโดส ในสัปดาห์นี้ ตามแผนทั้งหมด 61 ล้านโดส และในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม จะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกจำนวน 1.05 ล้านโดส ขณะเดียวกั นระบบ "หมอพร้อม" ได้เลื่อนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นแก่ผู้ลงทะเบียนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเดือนสิงหาคม เป็นกรกฎาคม ส่วนกรมการแพทย์ ได้เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สามารถรับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ แบบระบบ On-site เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 18 กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าตามแผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประเทศเร็วที่สุด