xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์จุฬาฯ เริ่มทดลองฉีดวัคซีน “ChulaCov19” ของไทยให้อาสาสมัครเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เผยภาพและรายงานว่า ได้มีการทดสอบการฉีดวัคซีน ChulaCov19 (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) ที่คิดค้นโดยคนไทย ให้กับอาสาสมัครเป็นครั้งแรก เชื่อประสิทธิภาพสูงและเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไป เพื่อรองรับเชื้อดื้อยา หรือ เชื้อกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. เพจ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โพสต์ภาพพร้อมข้อความรายงานว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบการฉีดวัคซีนโควิด 19 คือ ChulaCov19 (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) ให้กับอาสาสมัครเป็นครั้งแรก ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล ทีมนักวิจัย ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โดยวัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลก คือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อโคโรนาไวรัส (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ)

​ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก โดยแบ่งการทดสอบได้ดังนี้

​การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน

- กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
- กลุ่มที่สอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน

ในจำนวนสองกลุ่มข้างต้น จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าไร รวมถึงต้องศึกษาว่าคนไทยเหมาะกับการฉีดกี่ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้น จึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 การทดสอบในระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่า เริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับ วัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิดชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่สองกับสัตว์ทดลอง ควบคู่กันไปกับรุ่นแรกข้างต้น เพื่อรองรับเชื้อดื้อยา หรือ เชื้อกลายพันธุ์ ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ทั้งหมดนี้นับเป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปีนี้









กำลังโหลดความคิดเห็น