xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตล่าชื่อ! ไล่ “หมอยง” อ้างอวยซิโนแวค ทั้งที่ด้อยประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซเชียลฯ ดรามาผุดแคมเปญล่ารายชื่อปลดหมอยง ออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา โดยมองว่า สนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ

จากกรณี ดรามาหลัง นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนที่ ชาวโซเชียลฯ มองว่า มีการสนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ

วันนี้ (28 มิ.ย.) ได้มีการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลด นพ.ยง ภู่วรวรรณ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เนื่องจาก นพ.ยง ในฐานะที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีความเห็นในด้านวัคซีนที่ผิดเพี้ยนไปจากบทความทางวิชาการ และหลายต่อหลายครั้งที่สนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ

โดยล่าสุด เวลา 15.00 น. มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 5,000 คน

ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าว ตั้งขึ้นโดยแพทย์คนหนึ่งในประเทศไทย โดยระบุข้อความว่า “เนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลกปัจจุบันมีผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนออกมามากมายหลายชนิด และทางแพทย์รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ มากมาย ผ่านบทความทางวิชาการ ผ่านข่าวสารทั้งใน และต่างประเทศมากมาย

และผลการศึกษานั้น ยังได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ ตั้งแต่ Sinovac ที่ไม่สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อ ในประเทศชิลี ตุรกี บราซิล และ อินโดนีเซียได้ โดยทั้ง 4 ประเทศที่ใช้ Sinovac เป็นวัคซีนหลัก ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงได้ เช่น ในประเทศชิลี ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วถึง 50% แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ป่วย Covid-19 รายใหม่ไม่ได้ลดลงเลย และในประเทศอินโดนีเซีย ยังมีรายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังมีการติดเชื้อ Covid-19 อยู่ ทั้งๆ ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มไปแล้ว

ในทางกลับกัน วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น วัคซีน mRNA ของบริษัท Pfizer หรือ Moderna ก็ได้มีบทความทางวิชาการ และสถิติที่ชัดเจนว่า สามารถลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนที่ครบ 2 เข็มเพียง 50% เท่านั้น และในบางประเทศ ประชาชนสามารถที่จะใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น