xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงนายกฯ ร้องชะลอปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ประกาศว่าจะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท (ชั่วคราว) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไปนั้น

วันนี้ (8 ก.พ.) แกนนำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการปรับราคาดังกล่าว โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับมอบหนังสือ

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาส ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคเห็นว่าการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการออกประกาศโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภค ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมาย ไม่เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารแพงเกินไปเป็นภาระของผู้บริโภค เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ซึ่งจะเป็นสร้างภาระผูกพันต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานถึง 39 ปี อีกทั้งการประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร โดยไม่รอผลการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี ยังเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กรุงเทพมหานครต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และกำหนดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 96 ที่กำหนดให้การอนุมัติขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

จากปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาการบริหารงานของกรุงเทพมหานครที่ขาดประสิทธิภาพและหลักธรรมาภิบาลต่อรัฐและประชาชน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รัฐส่งเสริมประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเหมาะสมเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโคมีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

1. ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าโดยสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน เพื่อดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้นจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน

2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาชนที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ความเห็นชอบ

3. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรม เรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคน รวมถึงยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

4. ขอให้กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้ และ 5. ขอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค

นายคงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 331 บาท แต่ค่ารถไฟฟ้าหากมีการเดินทางสูงสุดเที่ยวละ 104 บาท ไป-กลับ 208 บาท ค่าจ้างของผู้มีรายได้น้อยก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลพยามทำโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ประชาชนมาใช้บริการ แต่การกำหนดราคาเช่นนี้กลับไม่เป็นแรงจูงใจซึ่งถือว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างมาก ขณะนี้เหลือเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็จะถึงกำหนดที่ต้องมีการปรับค่าโดยสารแล้ว ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) หวังว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งในการชะลอปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว

ขณะที่นางกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบัน ประชาชนมีรายได้ลดลง แต่รัฐบาลกลับมีการปรับราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะเป็นเสมือนการรีดเลือดจากปู ดังนั้นเห็นว่าจำเป็นที่รัฐบาล จำเป็นจะต้องเร่งทบทวนการปรับราคาดังกล่าวทันที