นายวัฒนา เมืองสุข กลุ่มสร้างไทย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก "Watana Muangsook" ระบุว่า ตามรายงานของ ธปท.เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ 13.766 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.5 ของจีดีพี โดยสิ้นปี 2562 ไทยมีหนี้ครัวเรือนที่ 13.489 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.56 แสนล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนน่าจะเกือบถึง 14 ล้านล้านบาทอันจะทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90 ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เลยจุดอันตรายและถือเป็นข่าวร้ายที่น่ากลัวสำหรับเศรษฐกิจของไทย
การฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจะต้องเริ่มจากการบริโภคภายใน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่อยู่ในความควบคุมของเราเอง เพื่อกระตุ้นให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นทำงานตามมา แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงจะเป็นตัวฉุดกำลังซื้อของประชาชนจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคภายใน ยิ่งมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบสองทำให้ภาครัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินสั่งปิดกิจการของเอกชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ยิ่งจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนหดหายทำให้การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในมีความยากมากขึ้นตามลำดับ
ถึงแม้รัฐบาลจะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งระงับการประกอบอาชีพที่ถือเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอันถือเป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่เกิดจากความบกพร่อง และเป็นความผิดของรัฐทั้งสิ้น รัฐจึงมีหน้าที่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่ง ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่รับผิดชอบจนเป็นนิสัยอันถาวรเหมือนหัวหน้ารัฐบาล อันเป็นพฤติกรรมที่ผมเคยถูกสอนว่า “ขี้แล้วกลบอย่างแมว ขี้แล้วแจวอย่างหมา” โดยคนโบราณเห็นว่าแมวเป็นสัตว์ที่รับผิดชอบ
การสร้างกำลังซื้อให้ประชาชนทำได้สองแบบ คือแจกเงิน หรือแจกโอกาสด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ แต่การทำอย่างหลังจะต้องใช้สติปัญญาส่วนจะทำอย่างแรกรัฐบาลก็ถังแตก เพราะกู้จนติดเพดานแล้วจึงไม่มีปัญญาจะแจกอีก ทั้งที่หลังโควิดประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีโอกาสมากที่สุดและเป็นจังหวะเหมาะที่ภาครัฐจะลงทุนบางอย่างที่จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อีกครั้ง ทั้งหมดคงต้องรอให้ถึงเลือกตั้ง พูดไปตอนนี้ไม่ได้กลัวแค่จะถูกลอกการบ้านแต่กลัวพวกโง่ลอกไปผิดๆ ประชาชนจะเดือดร้อนอีก