นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุว่า [การเมือง และ การศึกษา: 2 ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาในโรงเรียน และปัญหาของสังคมภายนอก]
เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนปัจจุบัน มีข้อเรียกร้องที่มีส่วนผสมทั้งด้านการเมืองและด้านการศึกษา
หลายปัญหาในสังคม มีต้นกำเนิดในรั้วโรงเรียน เพราะค่านิยมและบรรยากาศที่ถูกกำหนดในโรงเรียนหรือห้องเรียน มักแปรร่างมาเป็นค่านิยมและบรรยากาศในสังคมที่เราอาศัยอยู่ วันนี้ ผมขออนุญาตยกเพียง 2 ตัวอย่างให้พอเห็นภาพ 1. การทุจริต ปฏิเสธไม่ได้ ว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องการทุจริต ในการจัดลำดับ ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต โดยองกรณ์ความโปร่งใสนานาชาติเมื่อปีที่แล้ว ประเทศสอบตก โดยได้คะแนนเพียง 36/100 และเข้ามาเป็นอันดับที่ 101/180 ประเทศ หลายคนมักออกมาพูดว่า ทางออกอยู่ที่การปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แต่ในขณะที่เด็กถูกปลูกฝังว่าให้ “โตไปไม่โกง” การโกงกลับเกิดขึ้นในทุกห้วงเวลาและทุกตารางเมตรของชีวิตในรั้วโรงเรียนไทย ตั้งแต่ตอนเลือกโรงเรียน หลายโรงเรียนก็เลือกที่จะฉวยโอกาสจากความหวังดีของพ่อแม่ โดยการขายที่นั่งในโรงเรียนผ่านการคิดค่าแป๊ะเจี๊ย ในวันก่อนเข้าเรียน นักเรียนบางโรงเรียน ก็ถูกบังคับให้ไปซื้อชุดนักเรียนและกระเป๋านักเรียนจากร้านค้าเพียงร้านเดียวที่ราคาของในร้านนั้นดูสวนกับคุณภาพ แต่บังเอิญว่าเจ้าของสนิทกับ ผอ. พอเข้าเรียนแล้ว บางโรงเรียนก็มีการโกงงบอาหารกลางวัน จนทำให้เด็กๆไม่ได้รับโภชนาการที่ควรจะเป็น และพอเด็กมองไปที่ครู ด้วยความหวังว่าครูจะเป็นแสงนำทางให้กับเขาว่าควรมีพฤติกรรมอย่างไร ครูบางคนกลับไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่ตัวเองมีให้กับนักเรียนในคาบเรียน เพราะหวังจะกั๊กไว้ส่วนหนึ่ง ที่สามารถเก็บไว้สอนพิเศษหลังเลิกเรียน ที่คิดเงินเด็กได้ พอโรงเรียนทำให้เด็กเห็นการทุจริตอยู่ในทุกๆวัน ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมประเทศเราถึงมีการทุจริตทุกรูปแบบเต็มไปหมด และทำไมประชาชนมักมองว่าการจ่ายสินบนและการโกงนั้นเป็นเรื่องปกติ 2. การล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในโรงเรียน ที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้กระทำมักใช้อำนาจหรือความไว้วางใจที่ได้จากตำแหน่งที่ตนเองมี (เช่น ครู พระ คนในครอบครัว) ในการฉวยโอกาสกับเหยื่อ พอผู้ถูกกระทำลุกขึ้มาเพื่อเปิดโปงความเลวร้ายนี้ ก็มีหลายครั้งที่เหยื่อมักถูกกดดันให้ไม่ดำเนินคดี เพราะจะทำให้โรงเรียน (ในกรณีที่นักเรียนถูกกระทำโดยครู) หรือ ครอบครัว (ในกรณีที่ภรรยาถูกกระทำโดยสามี) “เสียชื่อเสียง” ถ้าผู้ถูกกระทำเดินหน้าต่อในการดำเนินคดี ก็มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ หรือสังคม กลับมีการโทษเหยื่อ – ไม่ว่าจะเป็นการไปถามเรื่องการแต่งกายของเหยื่อ หรือไปตั้งคำถามหรือสมมุติฐานที่ไม่เหมาะสมและไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น (เหมือนกับในภาพด้านล่าง) – แทนที่จะมุ่งหน้าในการให้ความร่วมมือเหยื่อและดำเนินการกับผู้กระทำผิด ผมยังจำได้ว่าตอนทำกิจกรรมกับสมัชชาสตรีแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีการจัดกิจกรรมช่วงหนึ่งเพื่อสอบถามในกลุ่มว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมเคยเจอปัญหาอะไรบ้างที่บ้าน ไม่มีใครสักคนที่ยกมือพูดถึงปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่พอเราถามให้คนโหวตแบบไม่เปิดเผยตัวตนผ่านการเขียนเข้ามาในกระดาษว่ากำลังเจอปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่บ้านอยู่บ้างหรือไม่ เกินครึ่งเขียนกลับมาว่าเคย เรื่องนี้ทำให้อดคิดและอดกังวลไม่ได้ว่า ถ้าเราสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่ปิดกั้นไม่ให้เด็กออกมาเปิดโปงเวลาครูทำผิด แต่กลับถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง” เรากำลังจะสร้างบรรยากาศในสังคมที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ใหญ่ที่ถูกสามีทำร้าย ไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง” ทั้งหมดนี้เป็นเพียง 2 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราอยากเปลี่ยนประเทศได้ เราต้องเปลี่ยนโรงเรียนของเราให้ได้ด้วย เพื่อให้ห้องเรียนและโรงเรียนของเรายืนหยัดในค่านิยมที่เราใฝ่ฝันอยากจะเห็นในสังคม