ส.ส.พปชร.เดินหน้าสังคายนากฎหมายข่มขืน ขอเพิ่มโทษ “คุกคามทางเพศ” ต้องรับโทษอาญามากกว่าลหุโทษ ชี้ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนหนังโป๊-สื่อลามกช่วยลดอาชญากรรม พร้อมรณรงค์เดือนพฤศจิกายน ยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี
น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย ส.ส.พปชร. ได้แก่ ส.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ กทม. ส.ส.พรรณสิริ กุลนาถศิริ จ.สุโขทัย ส.ส.จักรพันธ์ พรนิมิตร กทม. ส.ส.กษิดิ์เดช ชุติมันต์ กทม. ส.ส.กุลวลี นพอมรบดี จ.ราชบุรี และ ส.ส.ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็น “การกระทำชำเราและการคุกคามทางเพศ” ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ขอแก้ไขบทนิยามของคำว่า “กระทำชำเรา” เพื่อให้ครอบคลุมและคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม 2. เพิ่มการกำหนดนิยามของคำว่า “คุกคามทางเพศ” และเพิ่มโทษให้การคุกคามทางเพศเป็นฐานความผิดในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งเป็นกฎหมายอาญา เพราะที่ผ่านมาการคุกคามทางเพศไม่มีกฎหมาย ที่ระบุความผิด หรือไม่มีกฎหมายเอาผิดตรงๆ ได้แต่อ้อมๆ ดูพฤติการณ์ว่าหากเข้าข่ายการข่มขู่ คุกคาม ก็ให้ไปผิดลหุโทษ ซึ่งเป็นโทษสถานเบา แต่แท้ที่จริงการกระทำอาจร้ายแรงกว่านั้น แม้ไม่ถูกเนื้อต้องตัวที่จะเข้าข่ายอนาจาร แต่ก็ถือเป็นความรุนแรงระดับหนึ่ง จึงควรมีฐานความผิดในการคุกคามทางเพศ เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำให้สามารถมีกฎหมายที่จะเอาผิดได้
“เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของผู้หญิง แต่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเพื่อนสมาชิก หญิงหรือชาย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกเพศทุกวัยที่จะหาแนวทางลด และยุติ ความรุนแรง รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ” น.ส.พัชรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเป็นเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตนและเพื่อนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจึงอยากขอรณรงค์ให้ทุกเพศทุกวัยให้ความสำคัญ และเคารพในสิทธิต่อร่างกายของผู้อื่น ไม่ละเมิด งดใช้ความรุนแรง ทั้งทางกายและจิตใจทุกรูปแบบ พร้อมช่วยกันสอดส่องดูแลสังคมของพวกเราให้ปราศจากความรุนแรง
ส่วนเรื่องของการฉีดให้ฝ่อ หรือการเพิ่มบทลงโทษโดยใช้ฮอร์โมนฉีดเพื่อลดอารมณ์ทางเพศ รวมไปถึงแนวทางการลงทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ นับว่าเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างมากนั้น น.ส.พัชรินทร์ระบุว่า ยังคงต้องมีการพิจารณา ศึกษาเพิ่มเติมให้ละเอียดรอบคอบก่อน ในขณะที่เรื่องของหนังโป๊ สื่อลามกอนาจาร หากนำมาพิจารณาในเรื่องที่จะลดปัญหาการถูกข่มขืน ตามการศึกษาของ กมธ.แก้ไขป้องกันการข่มขืนฯ ยังไม่พบงานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศที่ระบุชี้ชัดได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการถูกข่มขืนกระทำชำเรา อีกทั้งยังมีข้อสังเกตของนักวิชาการที่ให้คำนึงว่าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้คนกลับกระทำผิดทางเพศได้ อีกทั้งอาชญากรรมประเภทนี้ไม่เหมือนกับประเภทอื่น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบของผู้กระทำความผิดที่มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อน