xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบปลดแอกอ้าง 5 เหตุผล ทำไมร่างแก้ไข รธน.ของ ส.ส.จึงมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH โพสต์ระบุว่า ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 7 ร่าง ดูอย่างผิวเผินจะเห็นว่ามี 3 ร่างที่จะเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามข้อเรียกร้องของราษฎร แต่แท้ที่จริงแล้วมีบางร่างที่สอดไส้และวางกับดัก เพื่อปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชนในการกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากที่ได้ศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยละเอียดพบว่า มีเหตุผล 5 ข้อที่สะท้อนให้เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยส.ส.นั้นมีปัญหา

เหตุผลที่ 1 ในร่างรัฐบาล ส.ส.ร. อาจกลายเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำและคณะรัฐประหาร โครงสร้างของ ส.ส.ร.ในร่างนี้มีทั้งหมด 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 150 คน และอีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งอ้อม ซึ่งปัญหาใหญ่อยู่ที่ 50 คนหลังซึ่งมีที่มา 3 ทาง ได้แก่ คัดเลือกโดยรัฐสภา 20 คน ที่ประชุมอธิการบดี 20 คน และนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากหลักเกณฑ์ของ กกต. 10 คน ซึ่งประเมินได้ว่าเกินกว่า 40 คน จะเป็นผู้ที่เป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์และสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญคณะผู้ร่างสมควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 100 % ถึงจะเรียกได้ว่าที่มาของรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย

เหตุผลที่ 2 ในร่างรัฐบาล ส.ส.ร.ต้องรับฟังคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานรัฐเป็นพิเศษ สะท้อนให้เห็นถึงการหใความสำคัญกับผู้มีตำแหน่งหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างประชาชนทั่วไป

เหตุผลที่ 3 ทั้งร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ปิดกั้นการแก้หมวด 1 หมวด 2 ปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นความจริงที่ว่าในตอนนี้มีทั้งผู้ที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และผู้ที่ไม่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าหากปิดกั้นไม่ให้แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะถึงว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญในอดีตไม่เคยมีข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 มาก่อน อำนาจในการชี้ขาดว่าจะแก้หรือไม่แก้หมวดไหนควรเป็นของ ส.ส.ร.ไม่ใช่รัฐสภา

เหตุผลที่ 4 ทั้งร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส.ส.ร.ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งไม่สะท้อนความหลากหลายของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะ ความหลากหลายไม่ได้มีแค่ในมิติเชิงพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุดควรใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งแทนที่จะเป็นรายจังหวัด

เหตุผลที่ 5 ให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยับยั้ง (Veto) ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติหรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา (แล้วแต่กรณี)ได้เป็นการชั่วคราว ? ในมาตรา 256/14 วรรค 4 (กรณีร่างผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา) มาตรา 256/17 (กรณีร่างผ่านประชามติ) วรรค 1 ในร่างรัฐบาล และ มาตรา 256/12 (ร่างผ่านประชามติ) ในร่างฝ่ายค้าน เปิดช่องให้ใช้มาตรา 81 วรรค 2 และมาตรา 146 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาบังคับใช้โดยอนุโลมในขั้นตอนการทูลเกล้าให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย โดยในมาตรา 146 บัญญัติว่า

ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
(กรณีนี้ให้แทนคำว่าร่างพระราชบัญญัติด้วยคำว่าร่างรัฐธรรมนูญ)

ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านมติของรัฐสภา หรือ ผ่านประชามติก่อนประกาศใช้จะต้องนำร่างขึ้นทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยหากเกิดกรณีที่กษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยจะสามารถยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญได้ ถ้าเป็นกรณีที่ร่างผ่านการลงมติของรัฐสภาจะต้องไปยืนยันเสียง 2 ใน 3 แต่ถ้าเป็นกรณีผ่านประชามติจะเป็นไปในทิศทางไหนไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นบัญญัติลักษณะนี้ทั้งในร่างของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นบทบัญญัติไม่บังควรอย่างมาก เพราะ เป็นการทำให้กษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐและต้องอยู่นอกวงการเมืองมีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

นี่คือ 5 เหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็มีปัญหาที่อาจขัดแย้งกับหลักการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ว่า “อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นของประชาชน จะเห็นก็มีเพียงร่างที่เสนอโดยภาคประชาชนที่นำโดย iLaw เท่านั้นที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวอุดและช่องว่างทั้ง 5 ได้