รัฐสภาเริ่มถกญัตติแก้ไข รธน. “ขจิตร” เสนอ ส.ว.โหวตก่อน หากได้ไม่ถึง 84 เสียงก็ไม่ต้องไปต่อ ด้าน กมธ.ศึกษา รธน.ชี้แจงรายงานการศึกษา หลายเรื่องยังเห็นต่างกัน แต่เห็นตรงกันว่าต้องไม่แก้ไข รธน. ที่กระทบพระราชอำนาจ “สุรชัย” ย้ำกระบวนการต้องถูกต้องตาม รธน. ยกงานวิชาการชี้กระบวนการแก้ไข ม.256 ต้องการสถาปนา รธน.ขึ้นมาใหม่ ระบุหากรายงาน กมธ.ยังไม่ชัดจะรับหลักการแค่การแก้ไขรายมาตรา 3 ฉบับของฝ่ายค้าน ไม่รับหลักการตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขทั้งฉบับ ยินดีปิดสวิตช์ตัวเอง ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ
วันนี้ (17 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย หารือว่าจากการประเมินจากเนื้อหาซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษามาแล้ว คาดการณ์ว่าน่าจะอภิปรายได้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ ส่วนการลงมติต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือไม่น้อยกว่า 84 คน จึงเสนอให้วุฒิสภาลงมติโดยการขานชื่อก่อน หากไม่ถึง 84 เสียง ก็ไม่ต้องดำเนินการต่อ จะได้มียืดเยื้อการพิจารณา
ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ขอให้ถ่ายทอดเสียงไปถึงบริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมติดตามการประชุมรัฐสภา แต่นายชวนชี้แจงว่า รัฐสภาไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ และกลุ่มผู้ชุมนุมก็สามารถติดตามการประชุมได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
จากนั้น นายชวนได้รายงานกรอบเวลาการพิจาณราโดยวุฒิสภาได้เวลาอภิปราย 5 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายได้เวลาชี้แจงร่างกฎหมายครึ่งชั่วโมง ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน รายงานว่าได้ตกลงกันกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านได้เวลา 5 ชั่วโมง ส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ 4 ชั่วโมง แต่กังวลว่า หากจะตั้งเป้าลงมติได้ไม่เกินพรุ่งนี้ วันนี้น่าจะต้องอภิปรายจบหลังเที่ยงคืน แล้วอภิปรายวันพรุ่งนี้ต่อนิดหน่อยไม่เกิน 14 นาฬิกา และลงมติจบไม่เกิน 18 นาฬิกา โดยนายชวน กล่าวสรุปว่าระยะเวลาอภิปรายคงจะใช้ราว 15 ชั่วโมงเศษ
ต่อมานายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ว่า เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การลงมติรับหลักการ จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาก่อน โดยมีการศึกษาประเด็นข้อกฎหมายว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่, การทำประชามติจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่, ควรกำหนดวิธีการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่กระทบต่อพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 3 ถึง 6 ขัดต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 1 และ 2 หรือไม่ เนื่องจากเมื่อมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างทั้งฉบับ จะทับซ้อนกับการแก้ไขเนื้อหารายมาตราหรือไม่, โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญบุคคลผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วน และเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการทุกคนแสดงความเห็น โดยไม่มีการลงมติ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องในภาคผนวกเพื่อประกอบการพิจารณาลงมติรับหลักการหรือไม่
นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานพิจารณาศึกษา ชี้แจงเนื้อหารายงานว่า เมื่อไม่มีฝ่ายค้านร่วมด้วย จึงไม่มีข้อสรุป โดยให้บันทึกความเห็นในคณะกรรมาธิการไว้ โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำได้ แต่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ก็มีความเห็นต่างกันเป็น 2 ทาง เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติ บางฝ่ายเห็นว่าควรออกเสียงเพียง 1 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่าควรทำประชามติก่อนดำเนินการด้วย แต่มีความเห็นเป็นทางเดียวกันว่า การดำเนินการประชามติต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน ส่วนการป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขกระทบพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 โดยเห็นไปในทางเดียวกันว่าพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ เป็นไปในฐานะประมุขแห่งรัฐอยู่แล้วตามหมวด 1 และ 2 ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ถึง 6 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา บางฝ่ายเห็นว่าไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าซ้ำซ้อนกับ ส.ส.ร.
จากนั้นสภาชิกรัฐสภาได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ เพราะไม่มีบทสรุป เป็นเพียงความเห็น 2 แนวทาง ทำให้สมาชิกหลายคนไม่สามารถหาคำตอบและบทสรุปได้ ซึ่งมองว่าต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อหาและกระบวนการพิจารณา แม้เนื้อหาจะดีแต่หากกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด จึงมีเจตนาต้องการเห็นกระบวนการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัยอภิปรายว่า ประเด็นข้อถกเถียงสำคัญคือขอบเขตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้การแก้ไขทุกมาตราโดยยกเว้นหมวด 1 และ 2 จะถือว่าไม่ได้การแก้ไขแต่เมื่อคณะกรรมาธิการไม่มีข้อสรุป จึงไปศึกษาข้อมูลทางวิชาการโดยพบดุษฎีนิพนธ์ของนายวศิน ยิ้มแย้ม นักวิชาการด้านนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร เรื่องปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ลดอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น เพิ่มอำนาจองค์กรตัวเอง การแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพราะทำลายหลักการรัฐธรรมนูญเดิม และเอกสารจุลนิติของวุฒิสภา ประจำเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2557 มีบทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุชัดเจนว่าอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กับอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคนละส่วนกัน โดยองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจจำกัดเท่าที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และยังไม่รวมความเห็นทางวิชาการอื่นๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแนวทางที่ 2 ของรายงานคณะกรรมาธิการ ก็สอดคล้องกับงานวิชาการเหล่านี้
“ยินดีรับฟังทุกความเห็น ต้องการความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วก็ต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง รวมถึงการออกเสียงประชามติก็ยังมีข้อถกเถียงกัน ทั้งหมดจึงวนกลับมาที่คณะกรรมาธิการ เพื่อคำตอบให้ทุกคนสามารถตัดสินใจบทหลักการที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักการของวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากคำตอบของคณะกรรมาธิการยังไม่กระจ่างชัดอย่างเพียงพอ ก็จะเห็นชอบเฉพาะกรณีแก้ไขรายมาตรา 3 ญัตติ ที่ฝ่ายค้านเสนอมาเท่านั้น โดยยินดีจะตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และสละอำนาจติดตามการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบและไม่ขัดข้องหลักการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าวุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมรับฟังทุกกระแสเรียกร้อง และหาทางออกให้ดี รวมถึงขอให้การตัดสินใจของสมาชิกเป็นไปโดยอิสระ อย่ากดดัน คุกคาม ข่มขู่ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศชาติที่ดีกว่าเดิม และหากต้องการตั้ง ส.ส.ร.ก็ควรออกเสียงประชามติก่อน ควบคู่ไปกับการแก้ไขรายมาตรา” นายสุรชัยกล่าว