xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.-ประชามติ เท่านั้นคือทางออก !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
เมืองไทย 360 องศา

จากการเปิดเผยล่าสุดของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ระบุว่า จะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกัน จำนวน 7 ฉบับ โดยรวมเอาฉบับที่เสนอแก้ไขโดยภาคประชาชนหรือที่เรียกว่า “ร่างไอลอว์” เข้าไปพิจารณาในคราวเดียวกันด้วย เนื่องจากมีการตรวจสอบตามขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

การพิจารณาในวาระแรกในขั้นรับหลักการ น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 วัน นั่นคือ อภิปรายกันในวันที่ 17 พฤศจิกายน หากเวลาไม่ต่อก็อภิปรายต่ออีกวัน คือ วันที่ 18 พฤศจิกายน เนื่องจากต้องเผื่อเวลาในการลงมติด้วย เพราะมีจำนวนถึง 7 ร่าง ต้องการใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาในวาระที่ 2-3 ค่อยมากำหนดเวลากันอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะใช้เวลากี่วัน

เมื่อเป็นแบบนี้ก็หมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเดินหน้าต่อไปแล้ว อย่างน้อยก็ดำเนินการไปก่อน จากนั้นค่อยมาว่ากันในขั้นตอนของการทำประชามติ ว่าจะเป็นแบบไหน และมีรายละเอียดของคำถามว่าจะเป็นอย่างไรในภายหลัง

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการพิจารณากันในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไปนั้น จะว่าไปแล้วมีอยู่สองสามประเด็นที่น่าสนใจ โดยมีร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน และร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน โดยร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล สาระหลักก็คือ ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การเลือก ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยห้ามแก้ไขใน หมวดที่ 1 และ 2 ที่เป็นหมวดทั่วไปและหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็มีความใกล้เคียงกับร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเว้นพรรคก้าวไกล) เพียงแต่ต่างกันในรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ร.เท่านั้น
ส.ส.ร.ในร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้มาจากการเลือกตั้งจำนวน 150 คน ที่เหลือให้สรรหาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ขณะที่ของฝ่ายค้านให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 200 คน

ขณะที่ร่างของภาคประชาชน (ไอลอว์) ก็ให้แก้ไขมาตรา 256 แต่ให้แก้ไขทุกมาตรา (รวมทั้งหมวด 1-2 ด้วย) และ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

สำหรับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้มีจำนวน 4 ร่าง ประกอบด้วย

1. ยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย และได้เสนอร่างนี้เช่นเดียวกับ ร่างแก้ไข มาตรา 256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการ

2. ยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และ มาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษ หรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร

3. ยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

4. แก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิก มาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คือ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกคน และเลือกพรรคการเมือง

จะว่าไปแล้วที่ต้องจับตามากที่สุดในร่างแก้ไขรายมาตราดังกล่าว ก็น่าจะเป็น ร่างแก้ไขฉบับที่ 1 ที่ให้ตัดทอนอำนาจ ส.ว.เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ และ ร่างแก้ไขฉบับที่ 4 ที่ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง สองใบเหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากพิจารณาตามนี้ก็อย่างที่รับรู้กันก็ถือว่า พรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจเป็นพิเศษ นั่นคือ เน้นอยากให้มีการแก้ไขให้สำเร็จ เนื่องจากมั่นใจว่าหากกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม จะทำให้พวกเขามีโอกาสชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งนั่นเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วเชื่อว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้แก้ไข มาตรา 256 น่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกมากกว่าฉบับอื่น แต่ก็ใช่ว่าจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องใช้เสียงของ ส.ว.ถึง 84 เสียง ทำให้ต้องลุ้นกันว่า ผลจะออกมาแบบไหน พอๆ กับร่างที่ให้แก้ไข มาตรา 272 ที่ให้ลดอำนาจ ส.ว.ที่หลายคน รวมทั้ง ส.ว.หลายคนที่มองเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป และไม่เห็นความจำเป็นแล้ว อีกทั้งอีกประมาณปีเศษ อำนาจดังกล่าวตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ก็จะสิ้นสุดไปโดยปริยายอยู่แล้ว ก็เป็นไปได้เหมือนกันหากออกมาในแบบให้แก้ไขรายมาตรา เพราะถือว่าเป็นการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ลดเงื่อนไขร้อนได้เหมือนกัน

ส่วนเรื่องการทำประชามติที่นาทีนี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากมีการโหวตวาระสาม ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบใดแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขในเรื่องสำคัญ

ในที่นี้น่าจะเป็นร่างแก้ไข มาตรา 256 เป็นหลัก ที่จะต้องมาถามความเห็นของประชาชนทั้งประเทศว่าจะเอาอย่างไร เห็นด้วยให้แก้ไขหรือไม่ อีกทั้งเวลานี้ร่าง พ.ร.บ.ทำประชามติ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง แม้ว่าทุกฝ่ายพยายามเร่งให้เร็วที่สุด แต่ก็คงใช้เวลาอีกพักหนึ่ง

หากพิจารณาตามบรรยากาศและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานึ้ ถึงอย่างไรก็ยังมั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นการรับฟังความเห็นของประชาชนในวงกว้างมากที่สุด เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด ขณะที่เรื่องอื่น เช่น การตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” อะไรนั่น มองเผินๆ อาจดูดีเป็นการรับฟังและพูดคุยปัญหา แต่เชื่อเถอะในที่สุดแล้วคงไม่มีออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เปลืองน้ำ เปลืองไฟเสียเวลาเปล่า แต่คงไม่อยากไปขัดคอ เอาเป็นว่าเสียเวลาเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น