วันนี้ (3 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ โดยสนับสนุนให้ใช้รูปแบบที่ 1 คือ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายรวม 7 ฝ่าย เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ รวมถึงตัวแทนผู้ชุมนุม ฝ่ายเห็นต่างจากผู้ชุมนุม และนักวิชาการทุกแนวคิด บางเรื่องต้องเป็นการพูดคุยกันภายใน เพราะการเจรจากันผ่านการถ่ายทอดสดเหมือนปี 2553 ไม่สำเร็จ
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ รูปแบบคณะกรรมการจากคนนอก นายสมชายบอกว่า ก็เป็นอีกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร หรือชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ที่เป็นคณะกรรมการจากคนนอกทั้งหมด แม้มีรายงานผลสรุปที่ดี แต่ถูกเลือกใช้แค่บางประเด็นเท่านั้น เพราะไม่สามารถผูกมัดเป็นฉันทามติให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามได้
สำหรับบางฝ่ายที่ระบุว่า จะต้องมีการหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในคณะกรรมการชุดนี้ นายสมชายกล่าวว่า หากจะพูดในเวทีวิชาการสามารถทำได้ แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย เพราะหลายเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิรูป ทั้งการเมือง การยุติธรรม การศึกษา ก็ยังไม่มีการปฏิรูป ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายอย่างของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เช่น การยกเลิกสายสาขาวิชา หรือการปรับเรื่องทรงผม และหวังให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวตรวจสอบการคอร์รัปชันในทุกระดับ แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ
นายสมชายกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประเทศตามข้อเรียกร้อง แม้นายกรัฐมนตรีลาออกก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีหลายเรื่องต้องแก้ปัญหาก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่รัฐสภาช่วงกลางเดือนนี้ ส่วนตัวให้ความเห็นไปแล้วว่าหากจะแก้ไขรายมาตราเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เช่น กรณียกเลิก ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง
ส่วนกระแสที่บอกว่า ส.ว.มีแนวโน้มเห็นชอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. นายสมชายกล่าวว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังมีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถบอกแนวโน้มการลงมติมาตรา 256 เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ