ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "ม็อบโซเชียลที่แปรเปลี่ยน กับ ความสุขประเทศไทยวัยที่แตกต่าง" จำนวน 14,650 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ "เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม" (Traditional Voice) จำนวน 1,405 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า
แนวโน้มของการปลุกปั่นกระแส ม็อบในโลกโซเชียลแปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่ลดลงในหลายตัวชี้วัดของการปลุกปั่น เช่น #เยาวชนปลดแอก #ให้มันจบที่รุ่นเรา และแม้แต่ #ประยุทธ์ออกไป กับ การปลุกปั่นกระแสเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยผลการศึกษาพบว่า มีกลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียลที่เคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) ขับเคลื่อนข้อความการเมือง ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ยังคงมาจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียลที่เคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) ภายในประเทศไทยในการศึกษาครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ ข้อความการเมืองที่ว่า หยุดคุกคามประชาชน มีกลุ่มบัญชีเคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) อยู่ในประเทศไทยจำนวน 23,185 บัญชี แต่มาจากต่างชาติ 1,889,533 บัญชี นอกจากนี้ ข้อความ เยาวชนปลดแอก มีอยู่ในประเทศไทย 21,947 บัญชี แต่มาจากต่างชาติ 832,676 บัญชี ที่น่าสนใจคือ ข้อความการเมืองปั่นกระแสที่ว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา มีในประเทศไทย 14,235 บัญชี แต่รวมการปั่นกระแสจากต่างประเทศจำนวน 1,796,689 บัญชี และแม้แต่ ข้อความการเมืองที่ว่า ประยุทธ์ออกไป มีอยู่ในประเทศไทย 30,631 บัญชีที่เคลื่อนไหวสูง (High Active Users) แต่รวมจากต่างประเทศเข้าไปพบจำนวนทั้งสิ้น 301,013 บัญชี และข้อความเกี่ยวกับสถาบัน พบบัญชีที่เคลื่อนไหวสูงในประเทศไทยมีเพียง 364 บัญชี แต่ถ้ารวมจากต่างประเทศด้วยมีจำนวน 130,258 บัญชี รวมกลุ่มคนที่ใช้ VPN ในการแอบแฝงอำพรางตัวตนที่แท้จริง แต่ไม่สามารถหลบหนีการตรวจจับรู้เห็นของเครือข่ายผู้ให้บริการหรือ ISP และจังหวะของการรั่วไหลจากคุณภาพของ VPN ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ช่องทางของโซเชียลมีเดีย ในการขับเคลื่อนปลุกปั่นกระแสอารมณ์ของม็อบในโซเชียลมีเดียแปรเปลี่ยนไปคือ จากเดิมใช้ Twitter เป็นช่องทางในอันดับที่หนึ่ง แต่วันนี้ ผลการศึกษาพบว่าใช้ อินสตาแกรม (IG) มาเป็นอันดับแรกในหลายข้อความการเมือง เช่น หยุดคุกคามประชาชน ใช้ อินสตาแกรม ร้อยละ 60.1 ใช้ทวิตเตอร์ ร้อยละ 35.7 ใช้เฟซบุ๊กเพียงร้อยละ 0.1 ใช้สำนักข่าว ร้อยละ 1.4 และอื่น ๆ ร้อยละ 2.7 สำหรับ ข้อความการเมืองที่ว่า เยาวชนปลดแอก พบว่าใช้ อินสตาแกรม ร้อยละ 45.2 ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 42.1 ใช้เฟซบุ๊ก ร้อยละ 2.9 ใช้สำนักข่าวร้อยละ 5.4 และใช้อื่น ๆ ร้อยละ 4.4 ในขณะที่ข้อความการเมืองที่ว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา ใช้อินสตาแกรม ร้อยละ 55.1 ใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 39.5 ใช้เฟซบุ๊กร้อยละ 0.6 ใช้สำนักข่าวร้อยละ 0.9 และใช้อื่น ๆ ร้อยละ 3.9
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ ข้อความการเมืองที่ว่า ประยุทธ์ออกไปพบว่าใช้ทวิตเตอร์ร้อยละ 93.6 ใช้อินสตาแกรม ร้อยละ 2.9 ใช้สำนักข่าวร้อยละ 1.6 ใช้อื่น ๆ ร้อยละ 1.9 โดยอาจมีการใช้เฟซบุ๊กปะปนอยู่ในจำนวนของช่องทางอื่น ๆ นอกจากนี้ ข้อความเกี่ยวกับสถาบัน พบใช้อินสตาแกรม ร้อยละ 78.5 ใช้ทวิตเตอร์ ร้อยละ 20.5 ใช้อื่น ๆ ร้อยละ 1.0 โดยไม่พบเจอในสำนักข่าวและเฟซบุ๊กในการศึกษาครั้งนี้ และเมื่อพิจารณาแผนภาพแสดงการปลุกปั่นกระแสอารมณ์ของม็อบในโลกโซเชียล พบว่า หลังจากวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความพยายามจะปลุกปั่นกระแสเพิ่มขึ้น แต่หลังจากวันที่ 24 ตุลาคม เป็นต้นมาแนวโน้มกระแสข้อความการเมืองต่าง ๆ ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตามแผนภาพที่แสดง จนถึงวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีกระแสเยาวชนปลดแอกโผล่ขึ้นเล็กน้อยและลดต่ำลงจนถึงวันนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจภาคสนามประชาชนทั่วไป พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ความสุขของเยาวชนต่ำกว่าความสุขของคนวัยอื่น ๆ ในหลายตัวชี้วัด เช่น ความสุขต่อ อนาคต อาชีพการงาน ความสุขต่อ รายได้ของตนเอง ความสุขต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติ และความสุขต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นต้น เมื่อถามถึง ความสุขในมิติต่าง ๆ ของประชาชนวัยที่แตกต่างกัน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 5.71 คะแนน คนอายุ ระหว่าง 25 – 39 ปี มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 6.20 คะแนน คนอายุระหว่าง 40 – 59 ปี มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 7.17 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 7.58 คะแนน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี มีความสุขในครอบครัว 6.85 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปีหรือคนเข้าสู่การทำงานระยะแรกของชีวิตมีความสุขในครอบครัวต่ำสุด ต่ำกว่าทุกกลุ่มวัยอยู่ที่ 6.19 คนอายุระหว่าง 40 – 49 ปีมีความสุขในครอบครัวอยู่ที่ 7.10 และคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความสุขในครอบครัวอยู่ที่ 7.51 คะแนน แต่เมื่อถามถึง ความสุขในชุมชน พบว่า เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีมีความสุขในชุมชนต่ำสุดคืออยู่ที่ 5.77 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปีมีความสุขในชุมชนอยู่ที่ 6.12 คะแนน คนอายุระหว่าง 40 – 49 ปี มีความสุขในชุมชนอยู่ที่ 6.68 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความสุขในชุมชนอยู่ที่ 6.88 คะแนน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าห่วง คือ ความสุขต่อ อนาคต / อาชีพการงาน พบว่า เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี มีความสุขต่อ อนาคต / อาชีพการงาน ต่ำสุด ต่ำกว่าทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่ 5.62 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปี มีความสุขต่ออนาคต อาชีพการงาน อยู่ที่ 6.08 คะแนน คนอายุระหว่าง 40 – 59 ปี มีความสุขต่ออนาคต อาชีพการงาน อยู่ที่ 6.30 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความสุขต่ออนาคต อาชีพการงานอยู่ที่ 6.68 คะแนน นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ความสุขต่อนักการเมือง พบว่า กลุ่มคนเกือบทุกช่วงอายุมีความสุขต่อนักการเมืองต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน กลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี มีความสุขต่อนักการเมืองอยู่ที่ 4.85 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปีมีความสุขต่อนักการเมืองอยู่ที่ 5.76 คะแนน คนอายุระหว่าง 40 – 59 ปี มีความสุขต่อนักการเมืองอยู่ที่ 4.85 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความสุขต่อนักการเมืองต่ำสุดคืออยู่ที่ 4.12 คะแนน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี มีความสุขต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่ำสุด คือ เพียง 3.82 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในขณะที่ คนอายุ 25 – 39 ปีมีความสุขต่อเศรษฐกิจของประเทศเกินครึ่งเพียงเล็กน้อยคือ อยู่ที่ 5.40 คะแนน ที่เหลือคนอายุระหว่าง 40 – 59 ปีมีความสุขต่อเศรษฐกิจของประเทศต่ำกว่าเกณฑ์เช่นกันคืออยู่ที่ 4.74 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก็เช่นกันมีความสุขต่อเศรษฐกิจของประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ คือมีเพียง 4.04 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ความสุขของประชาชนต่อ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต หรือเลวร้ายจนเกินไป ถึงแม้เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีมีความสุขต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติต่ำสุดคืออยู่ที่ 5.21 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปีมีความสุขต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติอยู่ที่ 6.02 คะแนน คนอายุระหว่าง 40 – 59 ปีมีความสุขต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติอยู่ที่ 6.01 คะแนนและคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความสุขต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติอยู่ที่ 5.91 คะแนน ที่น่าสนใจคือ คนทุกกลุ่มวัยในวันนี้ยังมีความสุขโดยรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีความสุข คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีมีความสุขรวมอยู่ที่ 6.28 คะแนน คนอายุระหว่าง 25 – 39 ปีมีความสุขรวมอยู่ที่ 6.21 คะแนน คนอายุ 40 – 59 ปีมีความสุขรวมอยู่ที่ 6.60 คะแนน และคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความสุขรวมสูงสุดอยู่ที่ 6.93 คะแนน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาเกาะติดกระแสม็อบในโลกโซเชียลพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทั้งรูปแบบและปริมาณของแนวโน้มที่ใช้ช่องทางการปั่นกระแสเปลี่ยนแปลงไปจาก การใช้ทวิตเตอร์ มาเป็นการใช้ อินสตาแกรม มากที่สุดในแต่ละข้อความการเมืองที่ศึกษา แต่ที่น่าพิจารณาคือ เฟซบุ๊ก กลับกลายเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียที่อาจจะเป็นช่องทางเสริมสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ แตกต่างไปจากช่องทางอื่น ๆ ได้อย่างดีและไม่ถูกใช้ในการปั่นยอดปั่นกระแสเชิงปริมาณที่ทำให้ดูว่ามีจำนวนเป็นล้าน ๆ บัญชีแตกต่างไปจากช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยความสุขของประชาชนนอกโลกโซเชียลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสุขของเยาวชนกับความสุขของคนวัยที่ทำงานระยะแรกในชีวิตเป็นความสุขของกลุ่มคนที่จุดเจ็บปวด (Pain Point) จำเป็นต้องมีมาตรการตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของคนทั้งสองกลุ่มวัยนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น คนทั้งสองวัยเหล่านี้ควรจะได้รับการมุ่งเน้นที่ อนาคตที่ดี มีทัศนคติที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี มีจิตอาสา จะเป็นเหตุปัจจัยทำให้สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้และผ่าน ขอให้ผู้ใหญ่มองคนวัยต้น ๆ ส่วนใหญ่เหล่านี้คือ จุดแข็งของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ได้ ทั้งเยาวชนและคนวัยทำงานระยะแรกควรได้รับการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาโดยเร็วและอย่างเหมาะสมที่สุด ก่อนจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ จึงอย่ามองพวกเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามแต่เร่งปรับปรุงยุทธศาสตร์บริหารอารมณ์ของเยาวชนจริงจังตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป