xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ"ย้ำการป้องกันสำคัญยิ่ง ชี้หากไทยมีโควิด-19 รอบสองต้องใช้เวลาสู้มากกว่าเดิม 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 23 กันยายน 2563

เมื่อวานติดเพิ่มไปอีก 268,756 คน รวมแล้วตอนนี้ 31,715,565 คน คร่าชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 973,633 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 40,721 คน รวม 7,076,638 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 80,391 คน รวม 5,640,496 คน เสียชีวิตแต่ละวันเกินพันคนมาอย่างต่อเนื่อง ยอดรวมเกินเก้าหมื่นคนแล้ว ตอนนี้ 90,021 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 33,536 คน รวม 4,591,604 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 6,215 คน รวม 1,115,810 คน จำนวนติดเชื้อต่อวันของรัสเซียกำลังค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 5-10 แต่ละประเทศยังคงลำดับเดิม โคลอมเบีย เปรู เม็กซิโก สเปน แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา ติดหลักพันถึงหมื่นกว่าคนต่อวัน

หลายต่อหลายประเทศในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ รวมถึงอิหร่าน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหมื่นกว่าเช่นกัน

แคนาดา ล่าสุดติดเพิ่มถึง 1,518 คน ยอดรวม 146,570 คน แนวโน้มขาขึ้นคล้ายรัสเซีย

ญี่ปุ่น และเมียนมา ยังติดเพิ่มกันหลายร้อย ส่วนสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันหลักสิบ ในขณะที่จีนและฮ่องกงก็ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

สถานการณ์ในเมียนมายังหนักหน่วง ติดเพิ่มไป 592 คน ตายเพิ่มอีก 17 คน

ลองมาทบทวนบทเรียนบางส่วนของไทยจากการต่อสู้ COVID-19 ระลอกแรกกัน

ของไทยนั้น ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ มักจะต้องนอนในโรงพยาบาลหรือที่กักตัวเฉลี่ย 14 วัน ในขณะที่ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการปานกลางถึงหนัก จะใช้เวลาดูแลรักษามากกว่า คือราว 17 วัน อัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 8.7% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

เราใช้เวลาสู้ระลอกแรกประมาณ 2 เดือน เคยมียอดติดเชื้อสูงสุดรายวัน 188 คน

จากสถิติของประเทศอื่นๆ ที่เจอการระบาดระลอกสอง พบว่าเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาต่อสู้มากกว่าเดิมราว 1.5-3 เท่า และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดมากกว่าเดิมราว 1.34-2.69 เท่า แม้สถิติของที่อื่นอาจไม่ได้การันตีว่าหากเกิดระลอกสองในไทยจะเป็นแบบเขา 100% แต่การคาดประมาณไว้ก็จะเป็นฐานข้อมูลในการเตรียมรับมือบ้างไม่มากก็น้อย

ดังนั้นหากเกิดระบาดระลอกสอง ก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจต้องใช้เวลาสู้มากกว่าเดิมราว 3 เดือน และยอดต่อวันที่สูงสุดอาจสูงถึง 252-506 คนได้

การคาดประมาณกำลังในการต่อสู้นั้น ไม่ควรคาดประมาณแบบคำนวณกลับโต้งๆ จากจำนวนเตียงที่มี เพราะผู้ป่วยหนึ่งคนใช้หนึ่งเตียงก็จริง แต่ทรัพยากรอื่นที่ต้องใช้ต่อผู้ป่วยหนึ่งคนนั้นมหาศาล ทั้งทีมบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงหยูกยา การคาดประมาณกำลังการรับมือจึงต้องนำปัจจัยทั้งหลายมาพิจารณารวมกัน

และต้องเข้าใจกันด้วยว่า โรคนี้ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน

การทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำจึงสำคัญยิ่ง

ด้วยรักต่อทุกคน