รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanara ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 31 สิงหาคม 2563
เมื่อวานติดเพิ่มอีก 213,265 คน รวมแล้ว 25,354,533 คน ตายไปแล้ว 849,605 คน
อเมริกา ติดเพิ่ม 33,473 คน รวมแล้ว 6,169,373 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 16,158 คน รวม 3,862,311 คน
อินเดีย หนักหนาสาหัสมาก ติดเพิ่มถึง 79,457 คน รวม 3,619,169 คน อีกไม่นานจะแซงบราซิลขึ้นที่ 2
รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,980 คน รวม 990,326 คน
เปรู แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก ติดกันเพิ่มราว 8,000 2,500 และ 6,000 ตามลำดับ
สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพิ่มกันหลักพันถึงหลายพันอย่างต่อเนื่อง
หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ติดกันหลักร้อยถึงเฉียดพัน
ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมาร์ ติดกันหลักสิบ ส่วนจีนและนิวซีแลนด์ติดกันต่ำกว่าสิบ
หากเราติดตามดูสถานการณ์ จะพบว่า จำนวนเคสติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 1 ล้านคนทุกๆ 4 วันนั้น เป็นมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน เร็วกว่าช่วงเดือนมีนาคมถึงเกือบ 9 เท่า และเร็วกว่าช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนถึง 3 เท่า
จำนวนเคสที่เพิ่มนั้นกระจายไปแทบทุกทวีป หากดู Top 10 ของการติดเชื้อเพิ่มรายวันนั้นมีทั้งเอเชีย อเมริกา อเมริกาใต้ รวมถึงยุโรปด้วย
อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการตรวจ RT-PCR ในประเทศต่างๆ นั้นส่วนใหญ่ล้วนสูงกว่าไทยอย่างมากมายนัก
หากมีการบ้าจี้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะใช้โมเดลเกาะสวรรค์ หรืออะไรก็ตามในช่วงสถานการณ์ระบาดรุนแรงแบบนี้ อนาคตที่มองเห็นคือ การระบาดซ้ำอย่างหนักหน่วงรุนแรง คุมได้ยาก ยาวนาน และส่งผลกระทบมากกว่าช่วงระลอกแรกที่ผ่านมา โดยอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยน"ภูมิศาสตร์โรค"ของไทยให้กลายเป็น"แดนดงโรค (Endemic area)"ในระยะยาว ความหวังที่จะโกยเงินจากการท่องเที่ยวจะกลายเป็นติดลบอย่างสาหัสได้...ดังนั้นท่านนายกรัฐมนตรี ศบค. และสมช. จึงควรพิจารณาให้ดี
ประมาณการให้เห็นเป็นรูปธรรม เอาแค่ฉากที่เป็น best case...หากอัตราตรวจพบว่าติดเชื้อต่ำมากเหมือนที่ไทยเรามี 0.5%
2,000,000 คนที่มีคนชงโมเดลขึ้นมาใน 6 เดือน เราจะเจอคนติดเชื้อราว 10,000 คน ซึ่งมากกว่าที่เราเจอกันมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันถึง 3 เท่า
ในจำนวนนั้น 2,000 คนอาจไม่มีอาการ 6,500 คนอาจมีอาการเล็กน้อย และ 1,500 คนอาจต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล โดยหนึ่งในสามต้องอยู่ในไอซียู...เกาะสวรรค์น่ะ ไม่มีทางรับไหว
ยังไม่นับโอกาสหลุดจากการตรวจคัดกรองแต่ละครั้ง ครั้งแรกอาจมีโอกาสหลุด 1,300 คน ซึ่งอาจกักในพื้นที่ 1 ตร.กม.หรือเปล่าตามแผนที่ปล่อยกันออกมาตามโซเชียล ซึ่งการหลุดคือตรวจเป็นลบ และเดินโต๋เต๋ไปตามโรงแรมที่พัก และอื่นๆ เจอคนอีกจำนวนไม่น้อย โอกาสแพร่ย่อมมีแน่ หากไม่ป้องกันแบบเคร่งครัดโคตรๆ
ถึงตรวจครั้งที่สอง โอกาสหลุดมีราว 169 คนโดยประมาณ และท่องเที่ยวได้ทั่วเกาะ ยังไม่นับการมีโอกาสได้รับการเสนอหรือแสวงหาพาไปนอกเกาะหรือแผ่นดินใหญ่ผ่านทางพาหนะอันหลายหลากก็มีความเป็นไปได้ เพราะมีเงิน...ทำได้หลายอย่าง ใช่ไหม?
ดังนั้น โอกาสการระบาดซ้ำทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ย่อมมีสูงยิ่งนัก และเดาใจว่า แม้แต่คนในพื้นที่ ก็คงไม่อยากเจอสถานการณ์เช่นนั้น ยกเว้นแต่กลุ่มที่อยู่บนหอคอยงาช้าง เครื่องป้องกันพร้อมสรรพ และโอกาสไปขลุกคลุกคลีกับอันตรายน้อยกว่าคนทั่วไปราวฟ้ากับเหว
ทุกประเทศที่เปิดเดินทางระหว่างกัน ล้วนประสบปัญหาหนักหน่วงของการระบาดซ้ำ และยาวนานกว่าระลอกแรก
เค้าแสดงให้เห็นแล้ว ยังจะตามอีกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
เบรกไว้ก่อนเถิด ฟองสบู่ท่องเที่ยว เกาะสวรรค์โมเดลน่ะ อย่างน้อยอีก 6 เดือน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ใช้เวลามาปฏิรูประบบท่องเที่ยวไทยที่มีความปลอดภัย ลดการพบปะ ขายประสบการณ์ เน้นคุณค่าไม่เน้นจำนวน เพื่อให้รอดจากระบาดครั้งนี้และในอนาคตอย่างยั่งยืน ระบบที่ว่านี้ไม่ง่าย และต้องใช้เวลาคิดวางแผน โดยต้องการการให้ความรู้ เทคโนโลยี และฝึกทักษะให้แก่คนจำนวนมาก ไม่ให้ยึดติดกับอดีตที่ขายแต่ "การบริการ" ที่เสี่ยงต่อการตกงานในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้
นโยบายรัฐนั้นสำคัญยิ่งนัก จะนำพาทุกคนในประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยได้ จะต้องไม่เล่นกับกิเลสนำความเสี่ยงเข้ามาแบบที่รู้ทั้งรู้ว่ามีแต่ตายกับตายเช่นนี้
ควรประคับประคอง อดทน อดกลั้น พอเพียง ยืนบนขาตนเอง บนฐานทรัพยากรของประเทศ และลดการพึ่งพาต่างชาติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน