xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงขึ้น เตือน! เปิด Travel Bubble จะเกิดหายนะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด (5 กันยายน 2563) โดยระบุว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 5 กันยายน 2563

ติดเพิ่มอีกถึง 319,409 คน ยอดรวมตอนนี้ 26,760,270 คน ตายไปแล้ว 877,886 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 53,970 คน รวม 6,385,367 คน อัตราตาย 3%

บราซิล ติดเพิ่ม 50,163 คน รวม 4,091,801 คน อัตราตาย 3.1%

อินเดีย ติดเพิ่มโหดมาก 87,115 คน รวมแล้ว 4,020,239 คน อัตราตาย 1.7% คาดว่าอีก 3 วันจะแซงบราซิลขึ้นที่ 2 และที่น่าสนใจคืออัตราตายของอินเดียน้อยกว่าสองอันดับแรกราวครึ่งหนึ่ง โดยของอินเดียนี้เท่าๆ กับประเทศไทยทั้งๆ ที่จำนวนเคสติดเชื้อเยอะมาก ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใด จะลองเจาะลึกดูข้อมูลอีกครั้งว่าน่าจะมาจากอิทธิพลของลักษณะทางประชากร เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัวต่างๆ หรือจากเหตุผลอื่น

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,110 คน รวม 1,015,105 คน อัตราตาย 1.7%

เปรู โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ติดกันเพิ่มราว 6,700 8,400 2,000 5,900 ตามลำดับ โคลอมเบียแซงแอฟริกาใต้ และเม็กซิโกขึ้นมาเกาะอันดับ 6 อย่างเป็นทางการ ทวีปอเมริกาใต้ตอนนี้ระบาดกันหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ติดกันหลักพันถึงหลายพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสนั้นสถานการณ์ดูแย่ลงมาก เพราะติดเพิ่มถึง 8,975 คน และมีอัตราตายสูงถึง 9.9% มากกว่าอเมริกาและบราซิลถึง 3 เท่า และมากกว่าไทยถึง 5 เท่า

หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ติดกันเพิ่มหลักร้อยถึงหลายร้อย

ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย ติดกันหลักสิบ ในขณะที่เมียนมา เวียดนาม และนิวซีแลนด์ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

จาก 6.6 ล้านขึ้นเป็น 16.6 ล้าน ใช้เวลา 53 วัน

จาก 16.6 ล้านขึ้นเป็น 26.7 ล้าน ใช้เวลาสั้นลงเพียง 40 วัน

ดูข้อมูลแค่สองบรรทัดนี้ ย่อมทราบกันดีว่า สถานการณ์การระบาดทั่วโลกรุนแรงขึ้นอย่างมาก เพิ่มขึ้น 10 ล้านคน โดยใช้เวลาสั้นลงกว่าเดิม 2 สัปดาห์

ยืนยันครับว่า ควรยุติการวางแผนผลักดันนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยว ที่จะนำคนต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลเกาะสวรรค์จังหวัดร่ำรวย หรืออะไรก็ตามแต่ หากเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเข้ามา จะเกิดหายนะระบาดซ้ำตามมาอย่างรวดเร็ว รุนแรง และคุมได้ยากมาก ผลกระทบจะหนักกว่าระลอกแรกและยาวนาน รวมถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนภูมิศาสตร์โรคของไทยกลายเป็นแดนดงโรคได้

"ไม่มีทาง" ที่ระบบสาธารณสุขที่โฆษณาโดยกลุ่มธุรกิจการเมืองว่าเข้มแข็งเอาอยู่แน่นั้นจะรับมือได้จริง

เอาแค่เคสล่าสุดที่รายงานพบการติดเชื้อในประเทศไทย เราก็จะพบชัดเจนว่า การติดตามตัวผู้สัมผัสให้ครบถ้วนนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ร้านอาหาร/สถานบันเทิงไม่ได้บันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการอย่างครบถ้วน ไทยชนะก็ได้รับการใช้น้อยมาก ได้แต่เพียงขอความร่วมมือให้ประชาชนทบทวนเองว่าได้ไปใช้บริการไหม และขอให้มาตรวจและสังเกตอาการ

หากเกิดการติดเชื้อระบาดจริง ยากนักที่จะเอาอยู่

ตอนนี้ยุทธศาสตร์สำคัญคือ

หนึ่ง ดำรงชีพและสร้างนโยบายที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเต็มที่ อดทน อดกลั้น อดออม ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ

สอง ลด ละ เลิก และชะลอนโยบายที่จะนำความเสี่ยงเข้าสู่ประเทศไปอย่างน้อย 6 เดือน

สาม ทบทวนการอนุญาตนำกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เข้ามาในประเทศ โดยอนุญาตเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น

สี่ ขันน็อตระบบตรวจตรากำกับมาตรฐานการดำเนินงานของกิจการต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

ห้า จัดระบบบริการตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมือง

หก ใช้เวลา 6 เดือนนี้ไปกับการปฏิรูประบบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นรูปแบบใหม่ และพัฒนาความรู้และทักษะแก่กำลังคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบกิจการ ผู้ให้บริการ และประชาชน

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน