xs
xsm
sm
md
lg

กก.ผอ.ใหญ่ อสมท แจงกรณีเยียวยาคลื่น 2600 MHz

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่ นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงาน บมจ.อสมท ออกแถลงการณ์ ในประเด็นที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ไม่รักษาผลประโยชน์ของ อสมท เกี่ยวกับวงเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz และไม่นำเสนอให้คณะกรรมการ บมจ.อสมท ให้ทราบนั้น

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ในฐานะที่ได้มอบหมายจากผู้ถือหุ้น ในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

1. ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2561 อสมท ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในการประกอบกิจการมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถประกอบกิจการจริงได้ เนื่องจากได้รับอนุญาตในเรื่องต่างๆ จาก กสทช. ไม่ครบถ้วน จนกระทั่งเดือนมกราคม 2562 อสมท สามารถเริ่มทำการทดลองประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ได้ โดยมี AIS และ TRUE เป็นพันธมิตรให้บริการโครงข่ายแล้ว แต่ในเดือนเมษายน 2562 กสทช.ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ในกิจการโทรคมนาคมเพราะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติและสังคมมากกว่าการใช้ในกิจการโทรทัศน์แบบเดิม ซึ่งในกระบวนการการเรียกคืนและการคำนวณมูลค่าชดเชยเยียวยา กสทช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ อันประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ 7 แห่ง ซึ่งมีความเป็นกลาง เป็นผู้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการเรียกคืนคลื่นความถี่

2. อสมท ได้จัดทำและจัดส่งข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเข้าชี้แจงเพิ่มเติมเป็นจำนวนหลายครั้ง ทั้งในชั้นการพิจารณาของที่ปรึกษาของ กสทช.และในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหลักฐาน ข้อเท็จจริง และความเห็นของ อสมท ที่ได้เคยนำเสนอและให้การไปแล้วทั้งหมดนั้น ได้รวมถึงสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ และมูลค่าความเสียหายและเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz โดยการจัดทำและนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของ อสมท ต่อคณะอนุกรรมการฯ ถูกดำเนินการโดยบุคลากรของ อสมท ที่มีความชำนาญและเป็นผู้รับผิดชอบต่อโครงการโดยตรง และกระทำอยู่ภายใต้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากคณะกรรมการ บมจ.อสมท ทั้งสิ้น

3. ในเรื่องมูลค่าและวิธีการชดเชยเยียวยานั้น กสทช. ยังไม่เคยแจ้งอย่างเป็นทางการให้ อสมท ทราบเลยว่า อสมท จะได้ค่าชดเชยเยียวยาเท่าใด จะมีเพียงข้อมูลตามข่าวซึ่งไม่สามารถยืนยันความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ ดังนั้น อสมท จึงยังไม่สามารถนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ บมจ.อสมท ได้ อีกทั้งเรื่องมูลค่าการชดเชยเยียวยาดังกล่าวนั้น อสมท ไม่สามารถพิจารณาความเสียหายหรือเสียโอกาสในส่วนของคู่สัญญาแต่ละรายได้ เนื่องจากคู่สัญญาแต่ละรายมีค่าเสียหาย การลงทุน และการประเมินมูลค่าความเสียโอกาสที่เป็นของตนเอง อีกทั้งค่าชดเชยเยียวยาของ กสทช. ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกข้อตกลงในสัญญา อสมท จึงไม่สามารถกำหนดข้อตกลงดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะจะทำให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายกับคู่สัญญาได้ อสมท จึงสามารถพิจารณาได้เฉพาะมูลค่าชดเชยเยียวยาในส่วนที่เป็นของ อสมท เท่านั้น ว่ามูลค่าการชดเชยเยียวยาที่ กสทช. จะจ่ายให้กับ อสมท มีความเหมาะสมและยุติธรรมหรือไม่ และหาก กสทช.พิจารณามูลค่าชดเชยเยียวยาในส่วนของ อสมท ไม่เหมาะสมยุติธรรม อสมท ก็จะสงวนสิทธิ์อุทธรณ์หรือดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในส่วนของ อสมท ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

4. สัญญาทางธุรกิจระหว่าง อสมท และคู่สัญญา เป็นสัญญาที่ กสทช. ได้ตรวจสอบและรับรองความชอบของสัญญาแล้ว และเป็นสัญญาที่ถึงแม้จะมีข้อตกลงห้ามเปิดเผยสัญญา แต่ตัวแทนสหภาพฯ และคณะกรรมการ บมจ.อสมท หลายท่าน ก็ได้ขอดูและตรวจสอบสัญญามาแล้วหลายครั้ง อีกทั้ง อสมท ยังได้ตกลงกับคู่สัญญาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้เพิ่มผลประโยชน์ในส่วนของ อสมท ไปแล้วเมื่อปี 2559 ตามมติของคณะกรรมการ บมจ.อสมท ในขณะนั้น ดังนั้นเมื่อคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของสัญญาได้ถูกเรียกคืนไปแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงต้องเป็นอันสิ้นสุดลง เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญของสัญญา และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือการตกลงกับคู่สัญญาเพื่อชดเชยเยียวยาค่าเสียหายหรือค่าเสียโอกาสอันเกิดจากการสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. โดยตรง หาก อสมท ดำเนินการเอง จะก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวายและข้อพิพาทกับคู่สัญญาได้

5. กรณีที่มีข่าวออกไปว่า อสมท ไม่ยอมกำหนด “แบ่ง” เงินชดเชยเยียวยานั้น เนื่องจาก อสมท ไม่มีเหตุผลใดให้ไปรอนสิทธิ์ของคู่สัญญาหรือผู้เสียหายรายอื่น “อสมท ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ์ของตนเอง โดยการต่อสู้ให้มูลค่าชดเชยเยียวยาเฉพาะในส่วนของ อสมท มีความเหมาะสมและเป็นธรรมเท่านั้น” ซึ่งหาก กสทช. กำหนดมูลค่าชดเชยเยียวยารวมของทั้ง อสมท และคู่สัญญา น้อยกว่าสิ่งที่ อสมท เพียงรายเดียวควรจะต้องได้ อสมท ก็จะต้องต่อสู้ให้ กสทช.เพิ่มมูลค่าดังกล่าวให้เพียงพอกับ อสมท ในขณะที่คู่สัญญาหรือผู้เสียหายรายอื่นก็ต้องไปดำเนินการต่อสู้กับ กสทช. ในส่วนของตนเองเช่นกัน ดังนั้นการแถลงการณ์ของประธานสหภาพแรงงาน บมจ.อสมท “เรื่องที่ว่า อสมท ไม่ยอมกำหนดส่วนแบ่ง” แล้วนำมาเป็นเหตุผลว่า อสมท “ยอมรับสิ่งที่ กสทช กำหนด” นั้น จึง “ไม่เป็นความจริง” เพราะข้อเท็จจริงคือ อสมท ไม่ได้ยอมรับตั้งแต่การที่ กสทช.กำหนดมูลค่าชดเชยเยียวยาเป็นวงเงินรวมทั้งในส่วน อสมท และคู่สัญญา และให้ อสมท ไปกำหนดส่วนแบ่งกับคู่สัญญาเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่าง อสมท กับคู่สัญญาแล้ว สิ่งที่ อสมท “ร้องขอ กสทช. มาโดยตลอดคือ ขอให้ชดเชยเยียวยา อสมท อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และขอให้ชดเชยเยียวยาคู่สัญญาและผู้ที่ได้รับผลกระทบแยกไปเลยโดยตรง เพราะจะได้ไม่ก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่าง อสมท และคู่สัญญา

“ผมจึงขอยืนยันว่าทุกการกระทำของผมในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่อง ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบอำนาจและความรับผิดชอบที่ถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักมาโดยตลอด ทั้งการพยายามลดค่าใช้จ่ายขององค์กร การปราบปรามทุจริตในองค์กร และการพยายามสร้างรายได้และกำไรเพิ่มให้องค์กรตลอดระยะเวลาที่รับภารกิจอยู่ รวมไปถึงการลดความเสี่ยงทางกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อย่างเช่น เรื่องการรักษาผลประโยชน์เฉพาะในส่วนของ อสมท โดยไม่ไปรอนสิทธิ์ของคู่สัญญาด้วยการยอมรับวิธีการกำหนดส่วนแบ่งของ กสทช. เพราะจะนำไปสู่ข้อพิพาทในอนาคตระหว่าง อสมท และคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้ทั้ง อสมท และคู่สัญญาไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเงินชดเชยเยียวยาได้ ดังนั้นกรณีประเด็นเรื่อง “การไม่กำหนดส่วนแบ่งค่าชดเชยเยียวยา” จึงเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และผิดหลักกฎหมายและการบริหารความเสี่ยง เพราะผมยืนยันเสมอว่า อสมท “ต้องได้รับการชดเชยเยียวยาเท่าที่เราเสียหาย/เสียโอกาสจริง” ส่วนคู่สัญญาหรือผู้เสียหายรายอื่น ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องไปเรียกร้องในส่วนของตัวเอง อสมท ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะไปกำหนดค่าชดเชยเยียวยาให้ผู้อื่น เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวแก่ กสทช.อยู่แล้ว"

นอกจากนี้หากดูข้อมูลตามข่าวที่ระบุว่า กสทช. อาจกำหนดมูลค่าชดเชยเยียวยาสำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz รวมทุกฝ่ายเพียงแค่ 6 พันล้านบาทนั้น ผมมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นมูลค่าที่ไม่พอแม้แต่จะเยียวยาแค่ อสมท เพียงฝ่ายเดียว ซึ่ง อสมท ต้องรอให้ กสทช. มีความชัดเจนและพิจารณาในเรื่องนี้เพราะอาจต้องไปต่อสู้กับ กสทช. ในเรื่องดังกล่าว แต่การที่สหภาพฯออกมากดดันให้ อสมท ต้องกำหนดส่วนแบ่งเงินชดเชยเยียวยาในวงเงินดังกล่าว เป็นการแสดงว่าสหภาพฯ คิดว่ามูลค่า 6 พันล้านบาท เหมาะสมแล้ว และต้องการให้ อสมท ไปต่อสู้เพื่อแบ่งแย่งผลประโยชน์กับคู่สัญญาเอง แทนที่จะให้ กสทช. ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชดเชยเยียวยาทุกฝ่ายให้เหมาะสมอยู่แล้ว เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหาก อสมท ดำเนินการตามที่สหภาพฯ แนะนำ โดยการยอมรับมูลค่าชดเชยเยียวยา ที่ กสทช. จะกำหนด” ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ามูลค่าจริงเป็นเท่าใด และยังไปกำหนดส่วนแบ่งให้คู่สัญญา อาจจะนำไปสู่การพิพาทกับคู่สัญญาจนส่งผลให้ อสมท ไม่สามารถนำเงินชดเชยเยียวยาไปใช้ทำประโยชน์ได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพนักงาน อสมท และผู้ถือหุ้นของอสมท ในอนาคต