“เลขาธิการกสทช.” เผย 27 พ.ค.นี้ นัด “เขมทัตต์” ตัดสินเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz พร้อมระบุให้ใครแบ่งเงิน ด้าน“เขมทัตต์” แจง ต้องให้กสทช.เป็นคนแบ่งเงิน เชื่อไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.วันที่ 27 พ.ค. 2563 มีวาระพิจารณาที่สำคัญ 2 เรื่องคือการสรุปกรอบวงเงินเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ ทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน ในย่านความถี่คลื่น 2600 MHz ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หลังจากที่สำนักงานกสทช.นำคลื่นย่านดังกล่าวไปเปิดประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จะมีการเชิญ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เข้ามาชี้แจงต่อบอร์ดในวันที่ 27 พ.ค.นี้เวลา 9.30 น.ว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ระหว่างอสมท และ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญาในส่วนบริหารเนื้อหาและการตลาด โครงการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก เพื่อลงมติให้ชัดเจนว่าการแบ่งส่วนแบ่งเงินชดเชยนั้นจะให้เป็นหน้าที่กสทช.หรือ อสมท
สำหรับกรอบวงเงินเยียวยามี 3 แนวทาง บนพื้นฐานระยะเวลาครองคลื่นความถี่ 15 ปี ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,573.4 ล้านบาท แนวทางที่ 2 กรณีพื้นฐาน (Base Case) วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 3,809.8 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 กรณีที่ดีที่สุด (Best Case) วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 6,685.1 ล้านบาท
ส่วนการจ่ายเงินเยียวยา กสทช.จะจ่ายในสัดส่วนตามที่ได้รับเงินค่าประมูลคลื่น 2600 MHz ซึ่งมีระยะเวลาจ่ายเงิน 10 ปี 7 งวด โดยเริ่มจ่ายปีแรก 302.3 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2-4 ยกเว้นจ่ายตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 2600 MHz จากนั้นปีที่ 5-10 จ่ายปีละ 1,063.8 ล้านบาท
ด้านนายเขมทัตต์ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือตอบกลับไปยัง กสทช. เรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น นั้น กสทช. ต้องเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เนื่องจาก อสมทได้คืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เพื่อนำไปประมูลรองรับเทคโนโลยี 5G แล้ว จึงไม่มีสิทธิแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาเองเชื่อว่ากสทช.จะพิจารณาบนพื้นฐานที่ไม่ให้รัฐเสียผลประโยชน์