xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เคาะเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz จำนวน 6,685.1 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.เคาะเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz 15 ปี จำนวน 6,685.1 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปี 7 งวด ยึดตามหลักจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นที่ประมูลได้ พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมการกฎหมายสรุประยะเวลาถือครองคลื่นเพื่อสรุปตัวเลขให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการจ่ายเงินให้เพลย์เวิร์คมอบหมายคณะอนุกรรมการเยียวยาคลื่นหาข้อสรุปว่ากสทช.จะเป็นผู้แบ่งจ่ายเอง หรือให้ อสมท จ่ายเอง ก่อนเสนอบอร์ดอีกครั้งคาดได้ข้อสรุปก่อน 16 ก.พ.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.มีมติเห็นชอบวิธีการคิดผลการศึกษาเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตามที่บอร์ดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับไปศึกษาเงินเยียวยาตามระยะเวลาการถือครองคลื่น ซึ่งเบื้องต้นคิดอยู่บนพื้นฐานการถือครองคลื่น 15 ปี ในราคา 6,685.1 ล้านบาท ซึ่งจ่ายในสัดส่วนตามที่ได้รับเงินค่าประมูลคลื่นซึ่งมีระยะเวลาจ่ายเงิน 10 ปี 7 งวด โดยเริ่มจ่ายปีแรก 302.3 ล้านบาท ปีที่ 2-4 ยกเว้นจ่ายตามเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าประมูล ปีที่ 5-10 จ่ายปีละ 1,063.8 ล้านบาท

'จุฬาฯได้เสนอค่าเยียวยามา 3 แบบ บนพื้นฐานระยะเวลาครองคลื่น 15 ปี คือ แบบที่ 1 จำนวน 1,573.4 ล้านบาท แบบที่ 2 จำนวน 3,809.8 ล้านบาท และ แบบที่ 3 จำนวน 6,685.1 ล้านบาท โดยราคานี้คิดแล้วเป็นจำนวน 25% ของมูลค่าคลื่น 2600 MHz ที่ 35,378 ล้านบาท แต่คลื่นที่ อสมท ถือครองคือ 146 MHz อยู่ที่มูลค่า 27,185.2 ล้านบาท นับว่าเป็นการเสนอค่าเยียวยาที่สูงกว่าที่อสมท ที่ต้องการแค่ 10%'

ทั้งนี้ บอร์ดมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กสทช. ศึกษาและตีความระยะเวลาในการถือครองคลื่นอีกครั้งหนึ่งว่าให้ยึดหลักตามระบบสัมปทานคือ 15 ปี หรือ ยึดตามระบบใบอนุญาต 10 ปี หรือ อาจจะเป็น 13 ปี 6 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ หากได้ข้อสรุปว่ายึดหลักตามระยะเวลาถือครองคลื่นไหนก็ให้คิดบนพื้นฐานเงิน 15 ปี ราคา 6,685.1 ล้านบาท ลดหลั่นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาที่ลดลง

ส่วนเรื่องการแบ่งเงินเยียวยาให้ผู้เสียหาย คือ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งได้ทำสัญญาคลื่น 2600 MHz กับ อสมท นั้น บอร์ด มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือ จ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz หาข้อสรุปอีกครั้งว่า กสทช.จะเป็นคนแบ่งให้คนละครึ่งเอง ระหว่าง อสมท และ เพลย์เวิร์ค หรือ จะให้ อสมท เป็นผู้จ่ายเพลย์เวิร์คเอง เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดจะต้องนำเรื่องเข้าบอร์ดวาระพิเศษอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าเร็วที่สุดต้องได้ข้อสรุปก่อนการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้บอร์ดยังเห็นชอบการประกาศคุณสมบัติผู้ผ่านการเข้าร่วมประมูล 5G จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ,บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ,บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยพบว่าทั้ง ทียูซี และ เอดับบลิวเอ็น สนใจประมูลทั้ง 3 คลื่นความถี่ คือ คลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ส่วนคลื่น 1800 MHz ไม่มีผู้สนใจ

ทั้งนี้ คาดว่า คลื่น 700 MHz เป็นคลื่นที่น่าจับตามองเพราะมีผู้ยื่นเสนอความประสงค์ในการประมูลถึง 3 ราย คือ ทียูซี,เอดับบลิวเอ็น และ กสท โทรคมนาคม ในขณะที่คลื่นที่ประมูลมีเพียง 3 ใบอนุญาตๆ ละ 2x5 MHz นอกจากนี้ทั้ง 3 รายดังกล่าวยังสนใจประมูล คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ 10 MHz ด้วย ขณะที่คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ๆ ละ 100 MHz มีผู้สนใจ 4 ราย คือ ทียูซี,เอดับบลิวเอ็น,ดีแทค และทีโอที


กำลังโหลดความคิดเห็น