xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เคาะเงินเยียวยา 2600 MHz ยันคนชนะประมูลใช้ได้ไม่มีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.เลือกผลศึกษาเยียวยาคลื่น 2600 MHz ของจุฬาฯ ที่เสนอ 3,000 ล้านบาท แต่ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมค่าเสียโอกาสกลับมาเสนอกสทช.ไม่เกิน 12 ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.วาระพิเศษ 13 ก.พ.-14 ก.พ. นี้ มั่นใจได้ข้อสรุปก่อนประมูลคลื่น 16 ก.พ. ย้ำคลื่นไม่มีการใช้งาน ผู้ชนะประมูลนำคลื่นไปใช้ได้ทันที

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการปรับปรุงรายงานผลการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อทดแทน ชดใช้และจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz ของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 MHz โดยที่ประชุม กสทช. มีมติรับทราบการปรับปรุงรายงานผลการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นฯ ดังกล่าว และมีมติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เสนอเงินเยียวยามาประมาณ 3,000 ล้านบาท ไปศึกษาเพิ่มเติม

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียโอกาสของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และให้นำผลการศึกษามาเสนอสำนักงานกสทช.ไม่เกินวันที่ 12 ก.พ. เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.วาระพิเศษภายในวันที่ 13 หรือ 14 ก.พ.นี้ และขอให้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ไม่ต้องกังวล เนื่องจากคลื่นไม่ได้มีการใช้งานและข้อสรุปของเงินเยียวยาจะได้ข้อสรุปก่อนการประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้ อย่างแน่นอน

'ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ว่าจ้าง 3 สถาบันคิดราคาเยียวยา ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่จุฬาฯมีการเสนอผลการศึกษาที่ครบถ้วนมากที่สุด แต่คณะกรรมการกสทช.เห็นว่าต้องศึกษาเรื่องค่าเสียโอกาสและเหตุผลต่างๆให้รอบด้านเพื่อให้กสทช.สามารถตอบคำถามหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)'

สำหรับคลื่น 2600 MHz ที่จะนำออกมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. นี้ มีจำนวน 190 MHz เป็นของ กองทัพบก 12 MHz และกรมประชาสัมพันธ์ 32 MHz ซึ่งได้เรียกคืนมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่จะต้องเรียกคืนและเยียวยาให้ อสมท มีจำนวน 146 MHz ซึ่งไม่มีการใช้งานแล้ว

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม จำนวน 3 ฉบับ พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวที่ได้ปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมแล้ว ดังนี้

1.(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

2.(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

3.(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศและให้นำ (ร่าง) ประกาศทั้ง 3 ฉบับ ไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น