นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สามัคคีปรองดอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,097 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18-23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงมาตรการรัฐบาลช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนพอใจ พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยลบะ 83.5 ระบุ มาตรการแจกเงิน รองลงมา ร้อยละ 80.9 ระบุ ลดค่าไฟ ร้อยละ 63.1 ระบุ ลดราคาน้ำมัน ร้อยละ 34.9 ระบุ ลดราคาสินค้า และร้อยละ 33.9 ระบุ ลดค่าน้ำประปา
เมื่อถามถึงความต้องการต่อมาตรการให้รัฐบาลขยายเวลาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมอีก พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุ ลดค่าไฟ รองลงมา ร้อยละ 72.2 ระบุ แจกเงิน ร้อยละ 66.5 ระบุ ลดราคาน้ำมัน ร้อยละ 40.7 ระบุ ลดราคาสินค้า และร้อยละ 38.2 ระบุ ลดค่าน้ำประปา
ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อมาตรการต่างๆ เป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ช่วยเหลือประชาชน หรือเป็นผลงานของ พลงอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 93.3 ระบุ เป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 6.7 ระบุ เป็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนถ้าสมมุติประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้ หรือจะไม่รักษาทีมนี้ไว้ หลังโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.8 จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้ ในขณะที่ร้อยละ 5.2 จะไม่รักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้
ที่น่าเป็นห่วงคือ ระดับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลังโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุ ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุ ค่อนข้างน้อยถึงไม่รุนแรงเลย
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.8 ระบุ รัฐบาลไม่สำเร็จเรื่องความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพราะคนในรัฐบาลเองมีแค่ไม่กี่คนยังไม่สามารถสามัคคีปรองดองกันได้เลย แย่งชามข้าว แย่งน้ำข้าว แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วงเวลาชาวบ้านกำลังทุกข์ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสามัคคีปรองดอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความสงบสุขของบ้านเมือง ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนถูกลิ่วล้อยุยงปลุกปั่นเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ไม่ได้รักประชาชนกันจริงๆ แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุ สำเร็จ เพราะรัฐบาลทำงานมาต่อเนื่อง สำเร็จ แต่เป็นเพราะลักษณะปกติของคนไทยที่มีจิตใจรักสงบรักสามัคคีกันมากกว่าเป็นผลงานของรัฐบาล และสำเร็จ เพราะประชาชนเห็นรัฐบาลมีผลงาน เป็นต้น
ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า ใครเป็นพระเอกละครช่วงโควิด-19 คำตอบในละครการเมือง คือ ไม่มี เพราะชาวบ้านเขาบอกว่าเป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และประชาชนทั้งประเทศที่ยอมลำบากเดือดร้อน ชาวบ้านนับแสนนับล้านทิ้งที่ทำงานทิ้งอาชีพหนีเอาตัวรอด บ้างก็ติดเชื้อ บ้างก็ฆ่าตัตวตาย บ้างก็อดอยาก หิวโหย ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่อาจเลี้ยงดูผู้คนในบ้านได้เพราะตกงาน ต้อง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" จนไม่มีจะกิน แต่คนในรัฐบาลบางคนกลับมุ่งใช้ห้วงเวลาแห่งทุกข์ของประชาชนนี้แย่งชิงตำแหน่งแบ่งพรรคแบ่งพวก ยุยงผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้นั่งวางแผนเล่นเกมการเมือง หัวเราะเฮฮาเมื่อแผนของพรรคพวกของตนเองประสบความสำเร็จบนทุกข์ของประชาชน ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรักความสามัคคีปรองดองและจะนำพาคนทั้งประเทศอีกกว่า 60 ล้านคน ไปสู่ความสามัคคีปรองดองได้อย่างไร