รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 16 พฤษภาคม 2563 โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีใจครับ ที่วันนี้ไม่มีเคสติดเชื้อใหม่เลย รวมแล้วเรามียอดผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 สะสม 3,025 คน เน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจว่า การที่ไม่มีเคสใหม่ ไม่ได้แปลว่าเชื้อไวรัสหมดไปจากสังคม ถึงแม้จะ 0 ติดต่อกันไป 14 วันตามที่หลายฝ่ายได้ออกข่าวไปนั้น ไม่ได้แปลว่าสังคมจะปลอดไวรัส เพียงแต่อาจมีน้อยจนเราตรวจไม่พบในกลุ่มเสี่ยง ในขณะที่คนทั่วไปอาจมีการติดเชื้อโดยไม่มีอาการใดๆ เลยถึง 20% ได้ หรือมีอาการน้อยเหมือนไข้หวัดไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 65% ซึ่งคนสองกลุ่มดังกล่าวมิได้สงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ จึงไม่ได้ไปตรวจ และแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อไปสู่คนอื่นๆ ได้
ไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนั้นลามไปทั่วโลก อย่างไรเสียก็จะคงอยู่กับเราไปอีกนาน ถึงในอนาคตเราจะปลอดเคสใหม่ได้ 14 วัน แต่ก็จะมีโอกาสที่คนที่เดินทางจากประเทศทั่วโลกจะนำพาเชื้อเข้ามาเพิ่มในไทยได้อีกทางหนึ่ง นี่จึงสำคัญยิ่ง ที่เราต้องเปลี่ยนตัวเรา ให้กลายเป็นคนใหม่ New Normal = New "Me" ใช้ชีวิตลัลล้าไม่ระมัดระวังแบบในอดีต ไม่ได้อีกแล้ว ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ คือนิสัยที่ต้องฝึกทำ สังคมต้องช่วยกันปรับสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติ ที่จะช่วยกล่อมเกลาให้ทุกคนที่ใช้ชีวิตทำ จะไปทำธุระที่ใด ต้องมีที่ล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้ใช้ทุกแห่งหน จะไปซื้อของหรือรับบริการใดๆ ต้องได้รับการตรวจวัดไข้ ล้างมือ และตรวจสอบว่าใส่หน้ากากหรือไม่ นอกจากนี้ ควรบันทึกไว้เสมอว่าไปนอกบ้านนั้น ไปเมื่อใด ที่ใด เวลาใด เก็บไว้ในมือถือหรือบันทึกไว้ให้ตรวจสอบได้ หากยามใดมีการระบาด รัฐเค้าประกาศ จะได้ทราบว่าเราได้ไปแถวนั้นเวลานั้นหรือไม่ จะได้ไปรับการตรวจได้ทันท่วงที ไม่ได้ปล่อยให้ติดเชื้อจนอาการรุนแรงหรือแพร่ให้คนในบ้านโดยไม่รู้ตัว ที่น่าห่วงตอนนี้คือ หากในไม่ช้านี้ไม่มีการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการควบคุมโรคภายใต้การดูแลใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรีแล้ว ในระยะยาวจะมีกลไกใดบ้างที่จะตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ หากมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นจนคุกคามความปลอดภัย ดังที่เราประสบมาในช่วงการระบาดสามเดือนแรก รัฐและหน่วยงานความมั่นคง ควรพิจารณาเรื่องที่ผ่านมาเป็นบทเรียนว่า เราฝ่าฟันวิกฤติระลอกแรกมาได้อย่างฉิวเฉียด เพราะประชาชนร่วมด้วยช่วยกันทำ และมีฝ่ายวิชาการอย่างโรงเรียนแพทย์ต่างๆ มาทักท้วงและเสนอแนะมาตรการจนเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ทันเวลา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการรวบอำนาจหลายกระทรวงภายใต้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพรรคใดพรรคหนึ่ง ที่จะเกิดโอกาสตัดสินใจใช้อำนาจบริหารไปในทางที่ไม่เหมาะสม จนอาจเกิดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์สนับสนุนการแข่งรถยามโรคระบาดขึ้นมาอีก เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์หน้ากากปริศนา เจลปริศนา ขึ้นมาอีก เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ"ก็แค่หวัดธรรมดา"ขึ้นมาอีก
ท่านนายกรัฐมนตรีควรพิจารณาจัดกระบวนทัพใหม่ สร้างสมดุลอำนาจ ใช้คนให้ถูกที่ รู้ว่าใครดีใครไม่ดี ไม่ว่าจะนักการเมืองหรือข้าราชการประจำก็ตาม ทั้งเรื่องกัญชายาเสพติดและเรื่องโรคระบาดเป็น 2 เรื่องหลักที่เราเห็นชัดเจนมาก และน่าจะถึงเวลาที่จะปลดล็อคประเทศเสียที "ต้องไม่ให้รวบอำนาจทั้งสุขภาพ คมนาคม และท่องเที่ยว ไว้เช่นเดิม" ด้วยรักต่อทุกคน