นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า ดอกเบี้ยพันธบัตร “#เราทิ้งประชาชน” ในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนั้น รัฐบาลต่างๆ ใช้วิธีกู้เพิ่มหนี้สาธารณะ แต่รัฐบาลอื่นๆ กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามตลาดพันธบัตร รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเอง แต่กำหนดแบบเว่อร์ สูงเท่ากับ 3 เท่าของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร ประชาชนกลุ่มที่โชคดี ยังมีเงินออมในช่วงวิกฤตโควิด ย่อมจะพอใจกับนโยบายนี้ อาจจะมองว่าเป็นการที่รัฐบาลคืนกำไรให้แก่ผู้ออม แต่มาตรการนี้ สร้างปัญหาทั้งในแง่ ภาระระหว่างคนรวยกับคนจน ภาระระหว่างปัจจุบันกับอนาคต และภาระความเสี่ยงรัฐบาลล้มละลาย ถามว่าสร้างภาระระหว่างคนรวยกับคนจน ภาระระหว่างปัจจุบันกับอนาคต อย่างไร
เงินกู้ไม่ใช่ของฟรี ต้องชำระคืน และระหว่างยังคืนไม่ครบ รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกปี การที่รัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลในอนาคตจะเพิ่มภาษีเป็นอัตราสูง เพื่อเก็บเงินมาใช้หนี้ที่เพิ่มจำนวนมากอย่างนี้ นับว่าเป็นไปได้ยากเพราะถ้าเก็บภาษีเพิ่มแบบกระจายทั่วไป จากคนทุกระดับชั้น ก็จะมีผลเท่ากับดำเนินนโยบายการคลังแบบชะลอเศรษฐกิจ ส่วนการจะเพิ่มภาษีชนิดที่เน้นเฉพาะคนรวย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน นั้น ในรัฐบาลใดที่มีนักธุรกิจใหญ่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง เป็นได้แต่เพียงความฝัน ดังนั้นเงินต้นของหนี้ก้อนนี้ก็คงจะอยู่กับรัฐบาลในอนาคตไปอีกหลายปี แต่ละปี รัฐบาลต้องเอาภาษีไปจ่ายชำระดอกเบี้ย ดังนั้น การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็นในวันนี้ คือสร้างภาระอนาคตยืดยาวให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่แต่ละปีจะต้องเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย นอกจากนี้ ในแต่ละปี แทนที่รัฐบาลในอนาคตจะมีงบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่จะใช้จ่ายดูแลสวัสดิการของประชาชน พัฒนาประเทศ และดูแลคนจน งบประมาณดังกล่าวจะร่อยหรอไป จากการจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็น ไม่ต่างกับการรอนสิทธิของคนจนในอนาคต ไปให้คนรวยปัจจุบัน ถามว่าสร้างภาระความเสี่ยงรัฐบาลล้มละลาย อย่างไร
ผมเคยเขียนไว้ ประเทศตะวันตกใช้วิธีกู้เงินมหาศาล เพื่อสู้สงครามโลกครั้งที่สอง จนสัดส่วนหนี้ต่อ จีดีพีของสหรัฐขึ้นไปถึงระดับ 112% และอังกฤษ 259% ภายหลังสงคราม ทั้งสองประเทศไม่สามารถจ่ายเงินต้น แต่ใช้วิธีลากยาวไปเรื่อยๆ เหมือนกัน เคล็ดที่ไม่ลับที่สำคัญคือ เขาทำนโยบายเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด ที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่าย การจะทำอย่างนั้นได้ รัฐบาลของประเทศนั้น จะต้องกระตุ้น Innovation และ Productivity อย่างเต็มที่ ด้วยวิธีนี้ ในปี 1980 สัดส่วนหนี้ของสหรัฐและอังกฤษจึงได้ลดลงเหลือเพียง 26% และ 43% โดยไม่ได้ลดหนี้ แต่อาศัย จีดีพี ที่โตเร็วกว่าดอกเบี้ย ทำให้หนี้เหลือเพียงเล็กน้อยเทียบกับรายได้ของประเทศ แต่เท่าที่ผมดูอาการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาตลอด 5-6 ปี ไม่สามารถตั้งความหวังทำนองนี้ได้เลย เพราะเอาแต่กระตุ้นการใช้เงิน กระตุ้นอุปโภคบริโภค เพื่อตัวเลขจีดีพี
โครงการชิมช้อปใช้ ช้อปช่วยชาติ เป็นแบบนี้ และแม้แต่การจ่ายเงินผ่านบัตรคนจนแทนที่จะจ่ายประจำรายเดือน เพื่อผู้รับจะวางแผนใช้เพื่อยกระดับโอกาสให้แก่ลูกหลานและครอบครัว กลับจ่ายเป็นครั้งคราว น่าสงสัยว่าเล็งผลทางการเมือง จึงเป็นการกระตุ้นอุปโภคบริโภคไม่รู้จบ ยิ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบเว่อร์ ยิ่งมากเท่าไหร่ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวแซงอัตราดอกเบี้ยแบบเว่อร์ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ผมจึงได้ตั้งคำถาม รัฐมนตรีคลังได้อธิบายหลักคิดนโยบายการคลังให้พลเอกประยุทธ์รับทราบหรือเปล่า
ผู้ว่า ธปท. ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจมากกว่า ได้ทักท้วงเป็นเรื่องเป็นราว หรือเปล่า และผมจึงต้องเรียกพันธบัตรชุดนี้ว่า เราทิ้งประชาชน