“ธีระชัย” ตั้งคำถาม “รัฐบาลโรบินฮู้ดกลับหัวหรือเปล่า ?” กำหนดดอกเบี้ย “พันธบัตรฯ เราไม่ทิ้งกัน” สูงกว่าอัตราตลาดถึง 3 เท่า แล้วภาระจ่ายดอกฯ ต้องตกที่คนจน ซึ่งไม่มีเงินมาซื้อพันธบัตรฯ งงทำไม ผู้ว่าการ ธปท. ถึงเห็นดีเห็นงามไม่คัดค้าน
วันที่ 11 พ.ค. 63 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า ...
“รัฐบาลโรบินฮู้ดกลับหัว หรือเปล่า?”
กระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” 2 รุ่น คือ
รุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1 = 2.00% / ปีที่ 2-3 = 2.25% / ปีที่ 4 = 2.50% / ปีที่ 5 = 3.00%
อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.40% ต่อปี
รุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1-3 = 2.50% ปีที่ 4-8 = 3.00% ปีที่ 9 = 3.50% ปีที่ 10 = 4.00%
อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.00% ต่อปี
กำหนดระยะเวลาการจำหน่าย เป็น 3 ช่วง คือ
สัปดาห์ที่ 1 จำหน่ายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
สัปดาห์ที่ 2 จำหน่ายให้ประชาชนรายย่อยซื้อได้ก่อนแบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาทต่อคนต่อธนาคาร และ
สัปดาห์ที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าซื้อได้แบบไม่จำกัดวงเงิน
ท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ ทราบหรือเปล่าครับ ว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในตลาดขณะนี้ 5 ปี เท่ากับ 0.801% ต่อปี และ 10 ปี เท่ากับ 1.053% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ย “เราไม่ทิ้งกัน” สำหรับพันธบัตรทั้ง 5 ปี และ 10 ปี สูงเป็น 3 เท่าของอัตราตลาด!!!
ท่านนายกฯ ทราบหรือเปล่าครับว่า ผู้ที่จะต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด นับเป็น 3 เท่าดังกล่าว คือ ประชาชนทั้งประเทศ
คนที่จะมีเงินออมมาซื้อพันธบัตรในยุคโควิด ก็คือ คนรวย คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ และพนักงานองค์กรที่มีเงินเดือนประจำ
บรรดาคนที่มีเหลือกินเหลือใช้ ไม่เดือดร้อนจากโควิด
แต่คนจนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้ไม่มีเงินเหลือกินเหลือใช้ ที่จะมาออมซื้อพันธบัตร กลับจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษี เพื่อดอกเบี้ยและใช้หนี้ในอนาคต
ท่านนายกฯ ควรจะเรียกพันธบัตรรุ่นนี้ ว่า “เราไม่ทิ้งคนรวย” ถ้าเปรียบกับโรบินฮู้ดกลับหัว เอาเงินจากคนจน ไปให้คนรวย
รัฐมนตรีคลังทำไมกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบเวอร์อย่างนี้?
ผู้ว่าการ ธปท. ทำไมเห็นดีเห็นงาม ไม่คัดค้านเป็นเรื่องเป็นราว?
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : คลังเตรียมเปิดขายพันธบัตรฯ “เราไม่ทิ้งกัน” ระดมทุนฟื้นฟู ศก. และสังคมจากผลกระทบโควิด-19