นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จับกุมชายไทยพร้อมของกลาง เป็นตราประทับของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 17 อัน ใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ 95 ฉบับ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ซึ่งภายในมีไฟล์แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ 65 แห่ง ทั่วประเทศ เครื่องปริ๊นเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และสติ๊กเกอร์ EMS ไปรษณีย์ไทย 2 เล่ม เพื่อจัดทำใบรับรองแพทย์ปลอมนำไปใช้ทำธุรกรรมทางราชการต่างๆ ในราคาใบละ 1,000 บาท, นำไปใช้ในกรณีลูกค้าต้องการลางาน รวมถึงใบรับรองแพทย์ปลอมเกี่ยวกับโรค COVID-19 ราคาใบละ 800 บาทนั้น การกระทำของบุคคลดังกล่าว นอกจากจะเข้าข่ายกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 114/4 และมาตรา 108/4 ที่บัญญัติไว้ ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้องต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่า ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือบุคคลใด เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยทุจริต มีการนำใบรับรองแพทย์ปลอมไปใช้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ อันเข้าลักษณะเป็นการฉ้อฉลการประกันภัยจะมีความผิดต้องรับโทษตามบทบัญญัตินี้ด้วย
ส่วนผู้ทำใบรับรองแพทย์ปลอมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น เมื่อส่งใบรับรองแพทย์นี้ให้ผู้อื่นนำไปเคลมเงินเอาประกันภัยจะมีความผิดฐานช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต ซึ่งต้องรับโทษตามบทบัญญัติเช่นกัน
ส่วนผู้ทำใบรับรองแพทย์ปลอมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น เมื่อส่งใบรับรองแพทย์นี้ให้ผู้อื่นนำไปเคลมเงินเอาประกันภัยจะมีความผิดฐานช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต ซึ่งต้องรับโทษตามบทบัญญัติเช่นกัน