xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! ใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมเคลมเงินประกันโควิด-19 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เข้าจับกุมชายไทย พร้อมของกลาง ตราประทับของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 17 อัน ใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ 95 ฉบับ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ภายในมีไฟล์แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ 65 แห่งทั่วประเทศ เครื่องพรินเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และสติกเกอร์ EMS ไปรษณีย์ไทย 2 เล่ม เพื่อจัดทำใบรับรองแพทย์ปลอม นำไปใช้ทำธุรกรรมทางราชการต่างๆ ในราคาใบละ 1,000 บาท และใบรับรองแพทย์ปลอม ในกรณีลูกค้าต้องการลางาน รวมถึงใบรับรองแพทย์ปลอมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ราคาใบละ 800 บาท ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบว่ามีการทำใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยได้ส่งไปให้ลูกค้าแล้วจำนวน 4 ใบ และอยู่ระหว่างการส่งให้ลูกค้าอีก 6 ใบนั้น

เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทีมเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เร่งตรวจสอบข้อมูลและบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการกระทำของบุคคลดังกล่าว นอกจากอาจเข้าข่ายกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว ยังอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 114/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากพิสูจน์ได้ว่าผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือบุคคลใด เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยทุจริต มีการนำใบรับรองแพทย์ปลอมไปใช้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ อันเข้าลักษณะเป็นการฉ้อฉลการประกันภัย จะมีความผิดต้องรับโทษตามบทบัญญัติดังกล่าว

นอกจากนี้ หากปรากฏว่าผู้ทำใบรับรองแพทย์ปลอมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ส่งใบรับรองแพทย์ดังกล่าวให้ผู้อื่นนำไปเคลมเงินเอาประกันภัย ก็จะมีความผิดฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้กำชับให้บริษัทประกันภัยตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะความถูกต้องของใบรับรองแพทย์ตามข่าว รวมถึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์บูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี ติดตามและตรวจสอบขบวนการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องตามสัญญาประกันภัย

“การเจตนา จงใจ ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพื่อหวังเงินประกันภัยโควิด-19 ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนอกจากบริษัทประกันภัยจะอ้างเหตุไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยแล้ว หากการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลการประกันภัย ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาทั้งจำคุกและ/หรือปรับอีกด้วย จึงขอเตือนไม่ให้มีการกระทำผิดดังกล่าว แต่สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสำนักงาน คปภ.จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของท่านอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น