xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดบีโอไอไฟเขียว 3 มาตรการพิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ว่า บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบมาตรการพิเศษ 3 มาตรการ เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการลงทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ (กิจการกลุ่ม A1 A2 และ A3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี แต่ไม่รวมกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 5 ปี หากมีการลงทุนจริง (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 2563 หรือไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 มาตรการนี้มีผลบังคับใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 มกราคม 2562 ถึง 30 ธันวาคม 2563 หากดำเนินการกระตุ้นการลงทุนตามมาตรการนี้แล้ว คาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท ในระยะปี 2563-2564

ส่วนมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีการกำหนดคำจำกัดความของเอสเอ็มอีใหม่ คือ เป็นกิจการที่ต้องถือหุ้นโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และจะต้องมีรายได้ของกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ใน 3 ปีแรก ในกรณีตั้งกิจการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี ขณะที่หากตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วนร้อยละ 200 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ด้วย ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564

สำหรับการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก มีการขยายระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และขยายขอบข่ายคุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยให้รวมถึงผู้ประกอบการที่มีกิจการที่ดำเนินกิจการอยู่เดิมแต่ยังไม่เคยได้รับการส่งเสริมมาก่อนด้วย การปรับปรุงประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยว บีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการกระเช้าไฟฟ้า และกิจการโรงแรม โดยประเภทกิจการกระเช้าไฟฟ้า ได้ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมรถรางไฟฟ้า เพื่อการท่องเที่ยวด้วย และกำหนดเงื่อนไขต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้ บีโอไอ ยังเปิดประเภทกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดี กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร กรณีบ้านแถวหรือบ้านเดี่ยว ต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร โดยมีราคาขายต่อหน่วย ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) กรณีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และไม่เกิน 1 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) ในกรณีตั้งในจังหวัดอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมซึ่งกำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ขณะเดียวกัน บอร์ดบีโอไอเห็นชอบอนุมัติให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ จำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7,915 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง วัตถุดิบหลักในการผลิต ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ โดยจะใช้ยางธรรมชาติในประเทศ ประมาณ 40,200 ตันต่อปี

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยอมรับว่า ปีนี้ยากมากที่จะประเมินเป้าหมายยอดการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอ เนื่องจากปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบมากและรุนแรงโดยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบในภาพรวมทั้งโลก ทั้งสงครามการค้า การระบาดของเชื่อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การระบาดของเชื้อไวรัสในสุกร ดังนั้น ชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุน 3 มาตรการล่าสุดที่ออกมาในวันนี้ ก็หวังว่าจะช่วยให้โครงการลงทุนต่างๆ เร่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเร็วกว่าเดิม จากปกติต้องใช้เวลาที่จะลงทุนนานถึง 3 ปี

สำหรับเป้าหมายการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2563 คาดว่าสำนักงานบีโอไอจะเสนอให้คณะกรรมการบีโอไอพิจารณาได้ในเดือนมีนาคม หรือเมษายนนี้ ปกติแล้ว ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละประมาณ 400,000 - 500,000 ล้านบาท ส่วนบางปีที่สูงกว่านี้มาก เนื่องจากมีมาตรการพิเศษก็จะทำให้มียอดยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนมากกว่าปกติ