“รมว.คลัง” เตรียมเสนอ ครม. วันที่ 4 ก.พ.นี้ พิจารณาออกมาตรการภาษีช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ส่วนความคืบหน้าชิมช้อปใช้ 4 ยังอยู่ระหว่างออกแบบมาตรการ ย้ำประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตลอดเวลาโดยไม่ประมาท และไม่วางใจ แม้ภาพเศรษฐกิจภายนอกจะดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 ก.พ. พิจารณาเห็นชอบการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นผลจากการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการดูแลอุปสงค์หรือความต้องการในการท่องเที่ยว รวมถึงอุปทานการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ เช่น ความต้องการในการปรับปรุงโรงแรมที่พัก สถานที่ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน โดยขอให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนก่อน จากนั้นจึงจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
ส่วนข้อเสนอจากผู้ประกอบการสายการบินที่ขอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาลดภาษีน้ำมันเครื่องบินนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นเรื่องเก่าที่เสนอมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีปัจจัยใหม่ที่จะขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มเติมให้ด้วย แม้ในขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ต้องขอให้รอดูก่อนว่าจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ด้วยหรือไม่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการชิมช้อปใช้ 4 ว่า ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเสนอที่ประคุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด เนื่องจากในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลยังต้องการใช้มาตรการดังกล่าวในการช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้เศรษฐกิจภายนอกประเทศจะดีขึ้นบ้างก็ตาม แต่ไทยก็ยังมีปัญหาปัจจัยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และความล่าช้าในเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 63 ดังนั้น จากสาเหตุดังกล่าวรัฐบาลจึงยังไม่สามารถวางใจอะไรได้ และยังเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยการปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ในภาคเอกชน
ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ทั้ง 3 ระยะ ได้ปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.63 โดย นายอุตตม ได้ย้ำว่า เป็นโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 โดยมียอดการใช้จ่ายจากผู้ได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรการฯ ทั้งสิ้น 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชน ช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลมีมาตรการออกมาดูแลเศรษฐกิจ และมาตรการชิมช้อปใช้ยังช่วยให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิอีกราว 12 ล้านราย ที่สามารถนำมาใช้ออกแบบมาตรการใหม่ได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ออกบทวิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญต่อภาวะถดถอยจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา ว่า เรื่องผลกระทบต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ติดตามกันอยู่แล้ว โดยการประเมินถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีมาตลอด ตนไม่ได้วางใจและไม่ได้ประมาท ส่วนสำนักข่าวแต่ละแห่งจะประเมินผลกระทบอย่างไรถือเป็นเรื่องของแต่ละองค์กรที่จะดำเนินการ แต่ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลต้องรับมือให้ทันการ เมื่อถึงช่วงจังหวะที่คิดว่าควรจะผลักดันมาตรการใดออกมาดูแลเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลก็จะดำเนินการ และที่สำคัญคือการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของกระทรวงการคลังที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น จะมีมาตรการไทยเที่ยวไทย ให้เอกชนนำรายจ่ายจากการจัดประชุมสัมมนามาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า รวมถึงการใช้มาตรการเพิ่มลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงแรมและสถานที่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว 1.5 เท่าสำหรับเจ้าของโรงแรม รีสอร์ต รวมถึงการขยายระยะเวลาในการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 62 ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.63 และคาดว่าผลจากการขยายระยะเวลาการเสียภาษีเงินได้ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท