นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน สรุปผลมาตรการต่างๆ ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ รองรับการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ขณะนี้คณะทำงานฯ รวบรวมและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะระยะเร่งด่วนที่อาจจะต้องชดเชย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสารอื่นแทนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ระยะต่อไปจะส่งเสริมให้ใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร
ส่วนระยะยาว คือ การหาสารชีวภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี โดยกรมวิชาการเกษตรรายงานว่า ปัจจุบันสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรมี 73 รายการ เป็นสารป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืชเท่านั้น ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดวัชพืช คณะทำงานฯ เห็นความสำคัญของการเร่งหาสารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดวัชพืช ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการรับรองหรือขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดวัชพืชยังมีความล่าช้า เนื่องจากมีขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ต้องแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อพืชประธานหรือพืชหลักที่ปลูกในแปลง
นอกจากนี้ ได้กำชับกรมวิชาการเกษตรให้ป้องปรามและควบคุมไม่ให้มีการจำหน่ายสารชีวภัณฑ์ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ตลอดจนเข้าไปให้ความรู้เกษตรกรไม่ให้หลงเชื่อ เนื่องจากอ้างว่าป้องกันกำจัดวัชพืชได้นั้น มีการผสมสารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชลงไป มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรเปิดกว้างการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ แต่ต้องทดสอบทางวิชาการแล้วว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย