xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.ยันเลือกตั้งตามโรดแม็พ ไม่เลื่อน ขออย่ากังวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยยืนยันกรอบเวลาการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พ ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้กำหนดไว้ในภาพรวมแล้ว ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีเหตุผลหรือปัจจัยที่ทำให้โรดแม็พ การเลือกตั้ง ต้องเลื่อนออกไป ส่วนการแสดงความคิดเห็นของหลายฝ่ายถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในส่วนบุคคลซึ่งอย่ากังวล เพราะรัฐบาลได้มีการชี้แจงถึงสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

ด้านนายนรชิต สิงหเสนี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นมุมองของต่างชาติที่จับตาการเลือกตั้งของประเทศไทยตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ในโร้ดแม็พภายในปี 2560 ว่า หากการเลื่อนเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ในโร้ดแม็พมีเหตุผล และสามารถอธิบายให้ต่างชาติรับฟังได้ เชื่อว่าจะไม่ถูกต่างชาติค่อนแคะ ซึ่งที่ผ่านมาการเลื่อนโร้ดแม็พเลือกตั้งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ ช่วงการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง จากนั้นได้ตั้ง กรธ. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำงานของกรธ. ยังเป็นไปตามโร้ดแม็พ รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาของการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 เดือน ยังคงเป็นช่วงเวลาตามโร้ดแม็พเลือกตั้ง ภายในปี 2560 ดังนั้นตนเชื่อว่าหากคสช. และรัฐบาลสามารถตอบคำถามต่อการเลื่อนการเลือกตั้งและชี้แจงได้อย่างมีเหตุล ต่างชาติที่จับตาจะเข้าใจ แต่หากต่างชาติไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยถือเป็นเรื่องของต่างชาติ เพราะการจัดการเลือกตั้งของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ

นายนรชิต กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิทินจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้แล้วเสร็จก่อนและเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เริ่มต้นนับการจัดการเลือกตั้งภายใน150 วัน จะส่งให้สนช. ภายหลังจากที่กกต. ได้สรรหา กกต.เพิ่มเติมจำนวน 2 คนและทำเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งเสร็จ และพรรคการเมืองได้ปรับตัวตามกติกาใหม่ที่กำหนดเวลาให้ไว้ 6 เดือน ดังนั้นความเป็นไปได้ที่กรธ. จะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ สนช. พิจารณา คือ ช่วงเดือนที่ 4 ของเวลาที่ให้พรรคการเมืองปรับตัว หรืออาจเป็นเดือนที่6 หากพรรคการเมืองต้องการใช้เวลาเตรียมพร้อมจนครบกำหนดเวลาที่กฎหมายลูกระบุไว้ ขณะที่การจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนั้น ล่าสุด กกต. ได้ระบุว่าจะแบ่งเวลาเป็นใช้จัดการเลือกตั้ง 90 วัน และอีก 60 วันเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือจัดการเลือกตั้งซ่อม

นายนรชิต กล่าวอีกว่า เมื่อสนช. รับร่าง พ.ร.ป. ไว้พิจารณาจะมีเวลา 60 วันแต่ละฉบับ ซึ่งสนช. มีสิทธิปรับปรุงและแก้ไขทุกจุด หรือแก้ไขเนื้อหาที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งหมดได้ แต่ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่ และเมื่อสนช. ลงมติเห็นชอบแล้วต้องส่งร่าง พ.ร.ป.ให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกี่ยวข้อง และกรธ. พิจารณาภายใน 10 วัน หากไม่พบเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หากพบเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าสู่การตั้งกรรมการร่วมกันระหว่าง สนช. และ กรธ. โดยใช้สัดส่วน กรธ. 5 คน และ สนช. 5 คน และให้ประธานสนช. เป็นประธานกรรมการฯ รวมเป็น 11 คน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวกำหนดเวลาแล้วเสร็จ คือ 15 วัน จากนั้นให้นำเข้าสู่การประชุมสนช. อีกครั้ง หากสนช. ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กรรมการร่วมพิจารณา ต้องใช้เสียงเกิน 2ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ลงมติให้ตกไป ดังนั้นเมื่อพิจารณากระบวนการตนไม่เชื่อว่าสนช. จะลงมติไม่เห็นชอบของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จนต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายใหม่ แต่หากพิจารณาในทางทฤษฎีอาจเป็นไปได้ และหากโหวตตก เป็นหน้าที่ของกรธ.​ที่ต้องจัดทำกฎหมายประกอบฉบับใหม่ แต่จะใช้เวลาเท่าใด รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ตนเชื่อว่าอาจใช้เวลาไม่ถึง 8 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น