xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน “สภาพัฒนาการเมือง” “เนติบริกร” เขียนด้วยมือ-ลบด้วยเท้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

ฮือฮาพอสมควร สำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 ที่ให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

สำหรับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ค่อยเซอร์ไพร์สเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จะควบหรือจะยุบมาตลอด ตั้งแต่มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 107/2557 เรื่อง "ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง"

โดยตอนนั้นคสช. ให้เหตุผลว่า "ตามที่สมาชิก สป.ซึ่งได้มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ได้ครบวาระลงแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2556 แม้จะมีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิก สป.ชุดใหม่ แต่ก็ไม่อาจดำเนินการโดยเรียบร้อยได้ เพราะมีข้อขัดแย้งกันมากจนมีคดีฟ้องร้องในศาลต่อเนื่องกันมากกว่า 70 คดี

ส่วนสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ ล้วนเป็นสมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น หากปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยและไม่อาจดำเนินการให้ลุล่วงได้"

แล้วเหตุผลจริงๆ อีกอย่างที่ฝ่ายอำนาจในปัจจุบันมองคือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเหมือนแหล่งรวบรวมเหล่านี้ “เอ็นจีโอ” ทั้งหลายอีกด้วย

ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือที่รู้จักกันในนามคปก. หน่วยงานนี้ลูกผีลูกคนมาตลอดในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเคยเกิดปัญหามาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงที่คณะกรรมการชุดเก่าที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ครบวาระลง และมีการสรรหาใหม่

ปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านออกมาระงม เพราะผู้ที่ได้รับการสรรหามีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ขณะนั้นกำลังทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกมองว่า มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากตัวเองเป็นคนจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก ดังนั้น ไม่ต่างอะไรกับการออกแบบกฎหมายให้ตัวเองไปนั่งในอนาคต

นอกจากนี้ รายอื่นๆ บางคนก็โดนคัดค้านเหมือนกัน จนที่สุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มีคำสั่งคสช.ที่ 20/2558 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 สั่งระงับการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นคปก. จำนวน 11 คน เพื่อดำรงตำแหน่งแทน คปก.ชุดเดิมที่หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2558

ทั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคปก. จึงอยู่ในสภาวะ “ลูกผีลูกคน” มาตลอด ไม่เกินความคาดหมายอะไรหากจะมีคำสั่งยุบออกมา

แต่ที่น่าสนใจในครั้งนี้ เห็นจะเป็นสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ที่มีนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เป็นประธาน ที่ถูกยุบ แบบที่ไม่มีใครคาดคิด หรือตั้งตัวมาก่อน ดูจากปฏิกิริยาของนายธีรภัทร์ ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ นั่นก็แสดงให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า ไม่ได้รับรู้เรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน

“การที่ คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเช่นนี้เป็นการยุติการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการยุบองค์กร เพื่อรอความชัดเจนของแผนยุทธศาสตร์ก็ตาม หากในอนาคตจะมีองค์กรใหม่ที่มาทำหน้าที่แทนสภาพัฒนาการเมืองก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะสานต่อแผนพัฒนาการเมืองที่ได้วางแผนไว้อย่างครบถ้วน แต่ถ้าในทางกลับกัน ไม่มีองค์กรใดมาทำหน้าที่นี้ ก็ถือว่าทุกอย่างที่เราทำมาเป็นศูนย์ ทำให้การพัฒนาการเมืองชะงัก จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง”

สำหรับคำสั่งยุบสภาพัฒนาการเมืองคราวนี้ จะว่าไปเหมือนเป็นการสร้างขึ้นเองและลบด้วยมือตัวเองของทีมงานเนติบริกรเหมือนกัน เพราะถ้าย้อนกลับไปหากจำกันได้ องค์กรแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 ในช่วงปลายของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

คนที่มีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมายฉบับนี้ และมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายฉบับนี้ หนึ่งในนั้นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี 2550

ขณะที่คนร่วมผลักดันก็มีสองศรีพี่น้องอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ ที่ตอนนั้นทั้งสองทำหน้าที่สนช.ทั้งคู่ จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการให้กำเนิด ขณะที่ครั้งนี้การประชุมคสช. ก่อนที่จะมีคำสั่งออกมา ก๊วนเนติบริกรทั้งนายมีชัย และนายวิษณุ ก็อยู่ในที่ประชุมทั้งคู่

สำคัญที่สุด การยุบองค์กรถือเป็นเรื่องใหญ่ “บิ๊กตู่” จำเป็นต้องมีมือกฎหมายอย่างทั้งคู่ไว้ให้คำปรึกษาแน่นอน ทั้งนายวิษณุ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย และนายมีชัย ในฐานะประธานกรธ. ที่กำลังผลิตกฎหมายลูกอยู่

การยุบองค์กรแห่งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า กับอีกส่วนหนึ่งบทบาทของสภาพัฒนาการเมืองไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังเหมือนตอนก่อตั้ง บางครั้งดูเหมือนไม่ได้รับความสำคัญด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ต้องบอกว่า แทบจะถูกหมางเมิน

ซ้ำร้ายในยุคนี้บางครั้ง ยังดูเหมือนจะคอยตั้งป้อมโจมตีคสช. อีกด้วย โดยเฉพาะตัวนายธีรภัทร์เองที่ถูกออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านสิ่งที่แม่น้ำ 5 สายทำเป็นประจำ แต่ถ้าย้อนกลับไปนายธีรภัทรไม่ใช่ศัตรูของฝ่ายนี้เลย เพราะเป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายระบอบทักษิณมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลขิงแก่ของพล.อ.สุรยุทธ์ ถูกมองว่า เป็นอีกหนึ่งคนที่ใกล้ชิด “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอีกด้วย

แต่การเริ่มโจมตีคสช. เริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่นายธีรภัทร เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ปรากฏว่า ไม่ผ่านการคัดเลือก และไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอะไรในแม่น้ำ 5 สายเลย ทั้งที่หลายคนเชื่อว่า เจ้าตัวต้องได้เป็นอะไรบ้าง ถึงขนาดเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีในบางช่วง แต่จนแล้วจนรอดไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งทำให้นายธีรภัทรรู้ว่า คสช.เลือกแต่พวกตัวเองเท่านั้น

หลังจากอกหัก สภาพัฒนาการเมืองภายใต้การนำของนายธีรภัทร ออกมาแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของแม่น้ำ 5 สายหลายเรื่อง ตั้งการทำงาน ตลอดจนร่างรัฐธรรมนูญที่นายบวรศักดิ์ หรือนายมีชัยร่าง

แรกๆ การเคลื่อนไหวของนายธีรภัทร มีการแปรสัญญาณว่า เป็นการออกมากระทุ้งในฐานะ “ตัวแสดงแทน” ของใครบางคนหรือไม่ โดยเฉพาะผู้มากบารมีแห่งบ้านน้อยเสา เพราะเคยมีความใกล้ชิด แต่ที่สุดแล้วเรื่องก็ถูกเฉลยว่า เป็นการกระทำโดยลำพัง

เมื่อตัวองค์กรไม่แข็งแกร่ง และตัวประธานยังคอยทำตัวเป็นขาประจำวิพากษ์วิจารณ์คสช. การถูกยุบครั้งนี้จึงเดาสาเหตุได้ไม่ยากเหมือนกัน เป็นอันปิดตำนานเกือบ 10 ปี ที่มีก๊วนเนติบริกรร่วมสร้างและร่วมโบกมือลา

จากนี้แค่ดูว่า “ธีรภัทร” จะเอาคืนคสช.อย่างไร เพราะโดยนิสัยไม่ยอมง่ายๆ แน่!
กำลังโหลดความคิดเห็น