xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าผ่า 3 องค์กร ม.44 ยุบสภาที่ปรึกษาฯ-กก.ปฏิรูป กม.-สภาพัฒนาการเมือง ถูกมองใช้เงินมหาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มาแล้วคำสั่งตาม ม.44 ยุบ พ.ร.บ.3 หน่วยงาน “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย” แต่ยังให้ 3 สำนักงานฯ ดำเนินการต่อจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ควบคุม เผย “สภาที่ปรึกษาฯ-กรมการปฏิรูป”ถูก ม.44 มาก่อนหน้านี้ เผย “สภาพัฒนาการเมือง” เคยถูกกรรมการปฏิรูปชงยุบ เหตุใช้งบสุดเปลือง หลังถูกวิจารณ์เป็นแหล่งทุนใหม่ของเอ็นจีโอ

วันนี้ (13 ธ.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 เรื่องการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้

“ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้บังคับสิ้นสุดลง และให้การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภา ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุติลงจนกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายอื่นใดจะกำหนดไว้เป็นประการอื่น และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๐/๒๕๕๘ เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ กำหนดให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อีกทั้งต่อมายังปรากฏว่ามีสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองบางส่วนได้พ้นจาก ตำแหน่งเพราะเหตุครบวาระ ทำให้ต้องมีการสรรหาสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองแทนตำแหน่งที่ว่างลง ตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๑

โดยที่องค์กรดังกล่าวได้ชะลอการดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง บัดนี้สมควรกำหนดทิศทางการดำเนินการต่อไปให้ชัดเจนตามข้อเท็จจริงที่ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการประกาศใช้บังคับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อไปจะต้องดำเนินการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรดังกล่าวเพื่อรับผิดชอบดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงงานด้านการพัฒนาการเมือง การปฏิรูปกฎหมาย การให้คำปรึกษา ทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อนกัน และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานตลอดจนบริหาร จัดการด้านบุคลากร งบประมาณ ทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ อำนาจหน้าที่ และด้านอื่น ๆ ได้อย่างประหยัด และสอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเห็นเป็นการสมควร ให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไปจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น หรือนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๐/๒๕๕๘ เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ยกเว้นมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๗/๒ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๑ ยกเว้นหมวด ๓ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และหมวด ๔ กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นหรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการบริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการบริหารกองทุน พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้บรรดาอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเมืองและคณะกรรมการบริหารกองทุน พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๔ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ยกเว้น หมวด ๓ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นใด บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นหรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๕ ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี อาจมอบหมายให้ไปช่วยปฏิบัติงานในองค์กรอื่นได้ ในระหว่างยังไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี กำหนดให้สำนักงานตามวรรคหนึ่งโอนหรือไปเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดหน่วยงานอื่นใด ให้บรรดาผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และเงินงบประมาณของสำนักงานดังกล่าวที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับยังคงเป็นของสำนักงานนั้น ๆ ทั้งนี้ ให้การบริหารงานบุคคล การเบิกจ่ายและใช้งบประมาณกระทำได้เท่าที่จำเป็น ในกรณีที่การสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่อื่นใดของสำนักงานคณะกรรมการ ปฏิรูปกฎหมายตามข้อ ๓ ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๐/๒๕๕๘ เรื่อง ระงับการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ยังคงดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

ข้อ ๖ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงประธานสภาตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ ประธานสภาตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือประธานกรรมการ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ถือว่าอ้างถึงนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี บรรดาระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทน การกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน สวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่น และการดำเนินการอื่นของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีกฎระเบียบบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นหรือนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๗ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษา ความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ ๘ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

สำหรับ สภาพัฒนาการเมือง เป็นองค์กรภายในสถาบันพระปกเกล้า มีสมาชิก 122 คน เป็นตัวแทนชาวบ้าน 76 คน จังหวัดละ 1 คน ปัจจุบันมี ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เป็นประธานสภาพัฒนาการเมือง ผศ.ดร.สมาน ฟูแสง เป็นรองประธานสภาพัฒนาการเมือง คนที่ 1 นางสาวศิริวรรณ บุตรราช รองประธานสภาพัฒนาการเมือง คนที่ 2 มี รศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นเลขานุการสภาพัฒนาการเมือง ตามร่าง พ.ร.บ.สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มีสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มาตรา 7 (1) องค์กรภาคประชาสังคม ในมาตรา 3 ซึ่งที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลเลือกกันให้เหลือจังหวัดละหนึ่งคน (2) องค์กรภาคประชาสังคม ในมาตรา 3 จำนวนสิบหกคน (3) สมาชิกซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทุกพรรคการเมือง พรรคละหนึ่งคน

(4) สมาชิกซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งมิได้มีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสองคน (5) สมาชิกซึ่งมาจากประธานคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน (6) สมาชิกโดยตำแหน่งได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (องค์การมหาชน) และ (7) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนสิบคน เช่น รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาประชาธิปไตย รศ.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เรื่อง การให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกลไกงบประมาณ “กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” มีนโยบายในปี 2560 ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานวิจัย โดยสภาพัฒนาการเมืองถูกมองว่าเป็น แหล่งทุนใหม่ของชุมชน

โดยตัวอย่างแผนปี 2560 มีการกำหนดแผนวิจัย เช่น 1. ประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์กับพัฒนาการทางการเมืองไทย (E-Democracy and Thai Political Development) งบประมาณสนับสนุนรวมไม่เกิน 600,000 บาท 2. การเมืองภาคพลเมืองกับกระบวนการเรียนรู้ปัญหาพื้นฐานของชุมชนพื้นที่ (People Politics and Problem-Based Learning (PBL) Process of Community Area) งบประมาณสนับสนุนรวมไม่เกิน 1,000,000 บาท 3. การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยสนับสนุนไม่เกิน 1,000,000 บาท 4. การบูรณาการสหศาสตร์เพื่อการส่งเสริมจริยธรรมในระบอบประชาธิปไตย (STEM Democracy) งบประมาณสนับสนุนรวมไม่เกิน 600,000 บาท 5.บทเรียนที่ได้จากการรัฐประหารและกบฏเพื่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย งบประมาณสนับสนุนรวมไม่เกิน 500,000 บาท และ.กระบวนการอบรมกล่อมเกลาตั้งแต่เด็กเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศสำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย งบประมาณสนับสนุนรวมไม่เกิน 800,000 บาท

มีรายงานว่า กองทุนวิจัยที่สภาพัฒนาการเมือง เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จัดสรรให้ชุมชนในแต่ละปีมากกว่า 10 ล้านบาท โดยเมื่อปี 2557 คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอหนึ่งว่าสภาพัฒนาการเมือง ไม่มีความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่าของการมีองค์กร

โดยสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ถึงกลับออกแถลงการณ์เรื่อง “ความจำเป็นและความคุ้มค่าของการมีสภาพัฒนาการเมือง” มีใจความว่า สภาพัฒนาการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง สร้างเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง โดยสภาพัฒนาการเมือง มีผลงาน ที่อ้างอิงจากผลวิจัยของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีรายงานว่าแผนพัฒนาการเมืองที่สภาพัฒนาการเมืองทำขึ้นนั้นนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงจากรากฐานของสังคม

การที่คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 มีข้อสรุปว่าไม่มีความจำเป็นและไม่คุ้มค่า จึงอยากถามว่าได้ใช้ข้อมูลหลักฐานประการใดในข้อสรุปดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการสรุปโดยปราศจากหลักฐานซึ่งจะกลายเป็นข้อครหาว่ามีอคติ ทำให้ประชนไม่ศรัทธาคณะอนุกรรมาธิการและอาจไม่ศรัทธาคณะกมธ.ยกร่างฯ ด้วย ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมืองพร้อมที่จะเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 รวมทั้ง กมธ.ยกร่างฯ และขอให้เปิดโอการในการรับฟังความคิดเห็นด้วย

“การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างการเมืองใหม่ หรือองค์กรอิสระในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ แต่สภาพัฒนาการเมือง มีหน้าที่เสริมสร้างวัฒนาธรรมอันดีทางการเมือง เสริมสร้างความร่วมมือทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับประชาชนโดยเรื่องดังกล่าวมีสภาพัฒนาการเมืองถือเป็นเจ้าภาพหลัก”

งบประมาณที่สภาพัฒนาการเมืองได้รับในแต่ละปี หากเทียบกับประชาชนทั้งประเทศแล้วงบประมาณตกเพียง 3 บาทต่อประชากรหนึ่งคน ซึ่งการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ถ้าเทียบกับกิจกรรมและภารกิจที่ทำ ทั้งๆ ที่สมาชิกทุกคนไม่มีเงินประจำตำแหน่งด้วยซ้ำ

ส่วน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดปัจจุบันที่รักษาการแทน คปก.ที่เพิ่งถูก ม.44 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2558 ตามคำสั่งที่ 20/2558 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดใหม่ และระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก.สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประกอบด้วย

1. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 2. นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 3. นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา) 4. นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา) 5. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา) 6. ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา) 7. ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา) 8. นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา) 9. ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา) 10. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา) และ11. รองศาสตราจารย์ วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)

ในส่วนของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ยุบไปเมื่อ ปี 2557 แต่เป็นการยุติบทบาทของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จากปัญหาความขัดแย้งภายใน และงานของ สป.ที่ไม่มีความชัดเจนในบทบาท



โครงการและงบประมาณปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น