“สุนี” มอง คสช.ใช้มาตรา 44 ยุบ คปก. ตัดตอนปฏิรูปกฎหมายภาคประชาชน ไม่มีการรับฟังความเห็น ย้อนหาว่าทำงานซ้ำซ้อนไม่จริง หวั่นกลายร่างปฏิรูปกฎหมายภาครัฐแทน
วันนี้ (14 ธ.ค.) นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 เรื่องการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ว่าปัญหาเรื่องนี้มีมาก่อนคำสั่งนี้จะออกแล้ว คือ ก่อนหน้านี้ คสช.ได้ออกคำสั่งโดยใช้อำนาจมาตรา 44 ยุติบทบาทของกรรมการ และไม่ให้มีการสรรหากรรมการองค์อิสระ เหลือไว้เพียงแต่สำนักงานที่เป็นข้าราชการประจำในการทำหน้าที่บริหารงานภายในองค์กร ซึ่งการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการไม่เต็มที่เพราะไม่มีอำนาจในการสั่งการทำให้ คปก.อยู่ในภาวะอึมครึมชะงักในการทำงาน งานที่เสนอรัฐบาลไปแล้วก็ติดตามไม่ได้ ส่วนงานกฎหมายที่ค้างคาก็สานต่อไม่ได้ จนมาถึงการออกคำสั่งดังกล่าวที่ให้ยุบกฎหมายองค์กรนั้นก็สืบเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูนที่ผ่านประชามติไม่มีองค์กร คปก.ในร่างธรรมนูญอีกต่อไป การปฏิรูปกฎหมายที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นองค์กรที่มีอิสระก็จะไม่มีอีกต่อไป จะเป็นการร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการปฏิรูปกฎหมายแทน โดยที่ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและก็ไม่มีใครเห็นร่างกฏหมายดังกล่าวว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
“คำสั่งดังกล่าวของ คสช.นั้นเป็นการทำลายเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ตั้งองค์กร คปก. เพื่อทำหน้าที่การปฏิรูปกฎหมายให้ยึดโยงกับภาคประชาชนอย่างแท้จริงเป็นการทำหน้าที่ที่เป็นอิสระปราศจากการครอบงำของรัฐ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และคำสั่ง คสช.ที่สั่งให้ยุบกฎหมายนั้น ถือเป็นการตัดตอนการปฏิรูปกฎหมายที่อาจกลายโฉมเป็นการปฏิรูปกฎหมายโดยภาครัฐแทน ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด และการที่ คสช.อ้างเหตุว่าเป็นองค์กรที่ทำงานซ้ำซ้อนกันก็ไม่เป็นความจริงเพราะสำนักงานกฤษฎีกาเป็นองค์กรที่เขียนกฎหมายเพื่อภาครัฐ แต่ คปก.เป็นองค์กรที่ปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นอิสระ 4 ปีที่ตัวเองทำงานมา เราปฏิรูปกฎหมายโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนใหญ่เราจะค้านกฎหมายของรัฐที่ไม่ชอบธรรมอีกด้วย”