xs
xsm
sm
md
lg

กษ. เตือนเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์แรง ช่วงอากาศแปรปรวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงสภาพอากาศแปรปรวนเปลี่ยนฤดูเป็นช่วงที่สุขภาพสัตว์อ่อนแอเสี่ยงติดเชื้อโรคได้ง่ายโดยเฉพาะสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์ เร่งเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนก ตลอดช่วงฤดูหนาวจากเดือนธันวาคม 2559 - กุมภาพันธ์ 2560 ได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดให้ทุกพื้นที่เสี่ยงดำเนินการเอ็กซเรย์ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ อาทิ พื้นที่ที่มีการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ขังในสุ่ม โรงฆ่าไก่ เป็ดไล่ทุ่ง บริเวณชายแดน พื้นที่ที่มีนกอพยพ นกต่างถิ่นอาศัยอยู่ ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นยาอย่างน้อยสัปดาห์ละ1 ครั้ง เฝ้าระวังเชื้อโรคไข้หวัดโดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อที่เราเฝ้าระวังอย่างมากที่สุด ไม่ให้มีในประเทศไทยอีกคือ สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 และเอช 7 จะเป็นสายพันธุ์ชนิดรุนแรงติดต่อสู่คน และสัตว์เสียชีวิต ซึ่งจะประมาทไม่ได้ ต้องเร่งป้องกันการแพร่เชื้อจากนกอพยพ นกพิราบ บินไปบินมาระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้เกือบทุกประเทศในทวีปเอเชีย มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 8 เช่นประเทศเวียดนามซึ่งเจอโรคไข้หวัดนกทั้งปี เพราะเขาใช้วัคซีนไข้หวัดนก จึงยิ่งกระตุ้นให้เกิดโรค รวมทั้งมีการระบาดในประเทศลาว พม่า กัมพูชา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในทวีปยุโรป จากการรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (โอไออี) ในปี 2559 ระบุว่าพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงบริเวณประเทศเวียดนาม เมียนมา ลาว และกัมพูชา อีกทั้งพบการระบาดโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 8 ในทวีปยุโรป ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส
สำหรับไทยตอนนี้ตรวจเจอเชื้อโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 4 เอ็น 6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง ไม่ติดคน และติดในสัตว์ปีกก็ไม่ตาย บางครั้งอาจมีตายบ้างก็เล็กน้อย ได้รายงานให้โอไออีทราบถึงมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และประสบการณ์ของไทยในการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 สามารถป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ 10 กว่าปี รวมทั้งฟาร์มต่าง ๆ มีการเรียนรู้พัฒนาการเลี้ยงอย่างดีมีมาตรการป้องกันโรคเข้มงวดมาก อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและสามารถแจ้งเบาะแสให้กับอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ของตัวเอง หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 096-301-1946 เพื่อจะได้ควบคุมและป้องกันโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างทันท่วงที
กำลังโหลดความคิดเห็น