xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ฝึกซ้อมแผนเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินการระบาดไข้หวัดนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากยังพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคใกล้เคียง ดังนั้นประเทศไทยจึงยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เพราะ 1.การเลี้ยงสัตว์ปีก ในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหรือการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ ประเทศ 2.ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตที่มี สัตว์ปีกหลายชนิดอยู่รวมกัน เช่น เป็ด ไก่ และนก 3.กิจกรรมการชนไก่ในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงที่เกิดการติดเชื้อในสัตว์ปีกและผู้เลี้ยงไก่ จากการสัมผัสดูแลไก่ 4.การเลี้ยงสัตว์อย่างหนาแน่น การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง และสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้าน 5.ฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ไม่ได้ มาตรฐาน ไม่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มที่ดี หรือการเลี้ยงระบบเปิดอาจติดต่อผ่านทางนกธรรมชาติได้ รวมถึงการเคลื่อนย้ายของนกอพยพจากซีกโลกเหนือไปยังซีกโลกใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางผ่านของเส้นทางอพยพ
ดังนั้นวันนี้ (25 ม.ค.) จึงได้ฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกระดับกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นส์ กับนายแพทย์สาธารณสุข 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิษณุโลก หนองคาย นครปฐม สระแก้ว และกาญจนบุรี เพื่อเตรียมความพร้อม ในกระบวนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ดังนี้ 1.พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก และผู้ป่วยสงสัยในจังหวัดชายแดน 2.พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีผู้ป่วยสงสัยในประเทศ 3.ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ และไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้มีการประเมินความพร้อมของกระบวนการดำเนินงานตอบโต้ ภาวการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำผลของการฝึกซ้อมไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช H5N1 ตั้งแต่ปี 2546-19 ธ.ค. 2559 ทั้งสิ้น 856 ราย เสียชีวิต 452 ราย ใน 16 ประเทศ เฉพาะในปี 2559 พบผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในประเทศอียิปต์ ส่วนผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช H5N6 ตั้งแต่ปี 2557 -7 ธ.ค.2559 พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 16 ราย เสียชีวิต 6 ราย ในประเทศจีน และไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 มีรายงานผู้ป่วย 809 ราย เสียชีวิต 322 ราย และตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.59 ถึง 3 ม.ค.60 มีผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีรายงานเมื่อเดือน ก.ค.2547-2549 มีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับไก่ที่ป่วยตายผิดปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น