xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกวิพากษ์ประชามติแค่ "ปาหี่" ทหารยังสืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น บีบีซี รอยเตอร์ การ์เดียน เอดี รายงานข่าวการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย โดยตระเวนสังเกตการณ์สถานการณ์ตามหน่วยออกเสียงต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเปิดให้ลงคะแนนในเวลา 08.00 น.จนถึงเวลาปิดหีบลงคะแนนเวลา 16.00 น.วันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 80% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดประมาณ 50 ล้านคน

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีสาระสำคัญและจุดหมายหลัก เพื่อป้องกันปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง รวมถึงความปรองดองในประเทศ หลังเกิดการแบ่งแยกทางการเมิองมากกว่า 10 ปี ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ที่จริงแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปมากกว่า

ส่วนเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์เดอะ การเดี้ยน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันของอังกฤษ โพสต์ข้อความรายงานถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.ก่อนจะมีการปิดหีบให้ประชาชนชาวไทยไปลงคะแนนรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเพียงการปูทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2560 ตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ก่อนหน้านี้ แต่เนื้อหานั้น เดอะการ์เดี้ยน ระบุว่า ยังคงสานต่ออำนาจ คสช.ให้ปกครองประเทศต่อไป

เดอะ การ์เดี้ยน ระบุว่า การลงประชามติ คือบททดสอบความนิยมรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นครั้งแรก หลังการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือน พ.ค.57 โดยจากการสำรวจเห็นว่า มีผู้ให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่ประเทสไทยมีผู้มีสิทธิออกเสียบงประชามติกว่า 50.5 ล้านคน

ด้านสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานเชิงวิเคราะห์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะเป็นก้าวสำคัญนำไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบขณะที่ฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มองว่า เป็นการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องมาจากข้อกำหนดการรณรงค์หาเสียงมีข้อจำกัด นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประชามติของไทย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมกระบวนการลงประชามติ ได้ลงโทษผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียงที่ไม่สอดคล้อมกับความเป็นจริง โดยมีผู้ถูกจับกุมไปแล้วประมาณ 17 คน เพราะฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติดังกล่าว ที่ระบุโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

บีบีซีรายงานต่อว่า หากผลการลงประชามติออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างกฎหมายจะถูกใช้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอนในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน และผลที่จะตามมายังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์จะยังคงอำนาจในฝ่ายบริหารต่อไป

บีบีซียังรายงานด้วยว่า ในการทำประชามติครั้งนี้มีคำถามที่ประชาชนชาวไทยต้องตอบอีก 1 คำถามคือ คุณจะยอมให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสรรหานายกรัฐมนตรีไทยหรือไม่ ซึ่งหัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมธรรมนูญฉบับนี้คือ มีกระบวนการป้องกันพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งกุมเสียงข้างมากได้สำเร็จ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การอนุญาตให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารได้ถึง 250 ที่นั่ง ซึ่งก่อนการทำรัฐประหาร ครึ่งหนึ่งของสภาสูงมาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งมาจากการแต่งตั้ง

“โดยการเปลี่ยนแปลงในจำนวนวุฒิสภา ทำให้ประเมินไปได้ว่า จำนวนสว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้นักวิจารณ์ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นการขยายอำนาจของกองทัพไทยและทำให้การเมืองไทยต้องอยู่ในสถานการณ์ยากต่อไปอีกอย่างน้อย 5ปี”บีบีซีระบุ

ส่วนไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ช่วงก่อนการออกเสียงประชามติ ภาครัฐเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติจำนวนมาก พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ไปเผยแพร่ทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังรายงานสอดคล้องกับสื่อสำนักอื่นที่ระบุ บรรยากาศก่อนลงประชามติครั้งนี้ มีการปิดกั้นการแสดงความเห็น ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้ใครออกเสียงอย่างไร

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศยังรายงานไปในทางเดียวกันว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติ จะถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของไทย ที่ทำให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลเศรษฐกิจและระบบการเมืองของประเทศ อีกทั้ง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง จนอาจไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารอีกในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น